... ก่อนที่ นีล โดนัลด์ วอลช์ จะตัดสินใจฆ่าตัวตาย เขาได้ระบายความขมขื่นและโกรธเกรี้ยวทั้งมวลลงไปในกระดาษเป็นครั้งสุดท้าย...ทำไม ทำไม และทำไมชีวิตถึงเป็นแบบนี้!!! ทำไมต้องมีชีวิตที่ดิ้นรนไม่จบสิ้นขนาดนี้ด้วย!!!
พลันสิ่งที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น เขาได้ยิน "เสียงที่ไร้เสียง" บอกให้เขียนบางสิ่งลงไป..."เธออยากจะรู้จริงๆ หรือแค่อยากระบาย?"
แล้ว "การสนทนา" ที่ไม่ธรรมดาก็เริ่มขึ้น การพูดคุยอันน่าทึ่งซึ่งเปลี่ยนเส้นทางชีวิตเขาไปตลอดกาล บทสนทนาเหล่านั้นได้รับการบันทึกเป็นเอกสารที่ต่อมาเป็นที่รู้จักในชื่อ "สนทนากับพระเจ้า"
ปี 2005 สถาบัน International Institute of Management (IIM) ทำการสำรวจ World’s Most Respected Books: 2005 Global Survey สำรวจหนังสือแยกเป็นรายหมวด ในหมวด World"s Most Respected Spiritual Books หนังสือ Conversations with God (สนทนากับพระเจ้า) ติดอันดับสูงสุดทั้งสามเล่ม (Book 1, 2, 3)
เคียงคู่กับกับคัมภีร์เต๋าเต็กเก็ง (เล่าจื๊อ) The Prophet : ปรัชญาชีวิต (คาลิล ยิบราน) Jonathan Livingston Seagull : โจนาธาน ลิฟวิงสตัน นางนวล (ริชาร์ด บาค) Siddhartha : สิทธารถะ (เฮอมาน เฮสเส) The Art of Happiness : ศิลปะแห่งความสุข (ทะไล ลามะ) Peace Is Every Step : สันติภาพทุกย่างก้าว (ติช นัช ฮันห์) The Alchemist: ขุมทรัพย์ที่ปลายฝัน (เปาโล โคเอลโย) ฯลฯ
คำกล่าวถึง สนทนากับพระเจ้า
“ของขวัญล้ำค่าสำหรับผู้ไต่ถามสัจจะแห่งชีวิต” นิตยสารสารคดี
“ในแต่ละบรรทัดของหนังสือเล่มนี้สามารถนำไปคิดต่อได้อีกเป็นเดือนเป็นปี...หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่ให้คำตอบกับจิตวิญญาณ...ทำให้ผมเข้าใจเพิ่มเติมขึ้นเยอะเลยในแง่ของมุมมองที่มีต่อชีวิต”
ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล
“ช่างเป็นบทสนทนาที่สื่อตรงเข้าไปในใจได้อย่างชัดเจนจริงๆ เป็นการสื่อสารที่ให้ทั้งความเบิกบานและสร้างการตื่นรู้ เป็นการผสมผสานมิติทางวิทยาศาสตร์และจิตวิญญาณได้อย่างอัศจรรย์ใจ”
ดร.ประพนธ์ ผาสุกยืด ผู้แปลหนังสือ ปัญญาญาณ และ อิสรภาพ ของ OSHO
“สัจธรรมนอกคัมภีร์” ทวี คุ้มเมือง สิกขาปริทรรศน์
“ก่อนจะถามว่าพระเจ้ามีจริงไหม ควรจะถามว่าพระเจ้าในที่นี้หมายถึงอะไร...แต่ที่แน่ๆ “พระเจ้า”ในที่นี้มิได้ฝักใฝ่ศาสนาหนึ่งศาสนาใด และการสนทนากับ "พระเจ้า" ในที่นี้ก็มิได้หมายความว่าเราจะมานั่งฟังหลักสอนทางศาสนา เปล่าเลย...สาระสำคัญของการ "สนทนากับพระเจ้า" อาจว่างเปล่าหรือก่อเกิดขึ้นอยู่กับข้างในของเราว่าจะเปิดรับคำตอบใหม่อันต่างไปจากความคุ้นเคยหรือไม่ ที่แน่ๆ นักคิดนักเขียนหลายคนต่างยอมรับว่า สนทนากับพระเจ้า ได้เปิดประตูจิตวิญญาณได้ชัดกว้างและลึกซึ้ง” นิตยสาร Travel Guide
“ไม่ว่า God ในหนังสือเล่มนี้จะมีอยู่จริงหรือแค่เป็นจินตนาการของผู้เขียนก็ตาม แต่นั่นหาใช่สิ่งสำคัญแต่อย่างใดเลย เพราะ God ในหนังสือเล่มนี้ คือกัลยาณมิตรที่ทรงภูมิปัญญาที่สุดคนหนึ่งเท่าที่ผู้อ่านจะพานพบได้ในชีวิตนี้…เท่าที่ผ่านมามีคนจำนวนไม่น้อยเลยที่ชีวิตของพวกเขาไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปหลังจากได้อ่านหนังสือเล่มนี้” ดร.สุวินัย ภรณวลัย
“แม้จะเป็นบทสนทนาของผู้เขียนกับ “พระเจ้า” แต่ผู้อ่านหลายท่านบอกว่าหนังสือเล่มนี้อยู่พ้นไปจากเรื่อง “พระเจ้า” หรือ “ศาสนา” แล้ว ....หากจะมีหนังสือสักเล่มที่สามารถเปลี่ยนชีวิตคนอ่านได้ ไม่แน่ สนทนากับพระเจ้า อาจเป็นหนึ่งในหนังสือเล่มนั้น” รายงานวรรณกรรม นิตยสารขวัญเรือน
“นี่ไม่ใช่หนังสือเผยแผ่ศาสนา และคำว่า “พระเจ้า” ในเรื่องก็ไม่ใช่พระเจ้าแบบที่เราคุ้นเคย...ที่สำคัญมันเป็นหนังสือที่เปลี่ยนชีวิตผู้อ่านมานับล้านคน” Best of Book Fair นิตยสาร GM Plus
“ยังมีหลายสิ่งหลายอย่างในโลกและชีวิตยังไม่มีคำตอบ การค้นหาความหมายและความเป็นไปต่างๆ นั้น บางทีก็ไม่มีคำตอบที่ชัดเจน เหมือนพบเจอแต่ความว่างเปล่าที่ล่องลอยอยู่ในอากาศ แต่สำหรับหนังสือเล่มนี้แล้ว มีคำตอบให้อย่างแน่นอน เพราะเปรียบเสมือนนั่งคุยกับพระเจ้า ซึ่งคำสนทนาและหัวข้อที่พูดคุยกันนั้น จะทำให้รู้แจ้งว่าสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับโลกและชีวิตของคนเรานั้น แท้จริงแล้วมันคืออะไรกันแน่?” จุดประกายวรรณกรรม กรุงเทพธุรกิจ
“การพูดคุยที่ลึกซึ้งที่เปลี่ยนเส้นทางชีวิตของผู้เขียนและผู้อ่านทั่วโลก แถมยังกลายเป็นหนังสือชั้นนำด้านจิตวิญญาณที่มีการถกเถียงมากที่สุดในรอบทศวรรษ” เนชั่นสุดสัปดาห์
“เป็นพลังและเป็นยานส่งเราไปสู่ความรู้แจ้งได้อย่างล้ำลึก” นิตยสาร ฅ.ฅน
ที่มา:
http://www.ohmygodbooks.com
สนทนากับพระเจ้า
|
ฝ่ามืออัสนีบาต |
#1 ฝ่ามืออัสนีบาต [ 21-09-2009 - 14:51:37 ] |
|
สยบทั่วเเผ่นดิน |
#2 สยบทั่วเเผ่นดิน [ 22-09-2009 - 01:32:14 ] |
|
OSHO นี่ชนชาติอะไร?ท่าน ได้ยินชื่อมานานละ ส่วนมากเขียนแนวนี้ |
ฤทธานุภาพ© |
#3 ฤทธานุภาพ© [ 22-09-2009 - 07:35:11 ] |
|
Osho คือคนอินเดียครับท่าน เป็นนักปรัชญา นักคิด และสั่งสอนเกี่ยวกับจิตวิญญาณ โด่งดังมากในช่วงสมัยหนึ่ง ซึ่งผมก็ไม่ทัน แนวคิดของคนคนนี้จะตรงกันข้ามกับแนวคิดคานธีครับ |
เด็กหญิงไร้นาม |
#4 เด็กหญิงไร้นาม [ 22-09-2009 - 16:59:32 ] |
|
อันนี้สงสัยค่ะ 1. พระเจ้ามีตัวตนหรือไม่ค่ะ หากมีหน้าตาเป็นเช่นไรค่ะ 2.จิตวิญญาณมีจริงหรือไม่ค่ะ มีจริงอยู่ที่หนใดค่ะ ขอบคุณค่ะ |
อี่น่ำเทียน |
#5 อี่น่ำเทียน [ 23-09-2009 - 10:50:07 ] |
|
ทุกศาสนาในโลกนี้ล้วนมีพระเจ้าด้วยกันทั้งนั้น แต่พระเจ้าของแต่ละศาสนาจะมองในมุมที่ต่างกัน ซึ่งแบ่งออกได้เป็นสองกลุ่ม คือ กลุ่มศาสนาที่มองพระเจ้าเป็น Person ( บุคคล) เช่น คริสต์ อิสลาม ฮินดู เป็นต้น กลุ่มศาสนาที่มองพระเจ้าเป็น Nature ( ธรรมชาติ ) เช่น พุทธ เป็นต้น แต่นั่นไม่สำคัญอะไร ...เพราะไม่ว่า Person หรือ Nature ก็ล้วนแต่มุ่งสอนคนให้เป็นคนดี Understanding is God of gods : God of gods is Understanding ความเข้าใจที่ถูกต้อง คือ พระเป็นเจ้าแห่งพระเป็นเจ้า พระเป็นเจ้าแห่งพระเป็นเจ้า คือ ความเข้าใจที่ถูกต้อง ..................................................................................พุทธทาสภิกขุ |
ฝ่ามืออัสนีบาต |
#6 ฝ่ามืออัสนีบาต [ 26-09-2009 - 20:50:23 ] |
|
สนทนากับพระเจ้า"กับเสกสรรค์ ประเสริฐกุล ในหนังสือเล่มนี้ ‘พระเจ้า’ บอกว่า “ฉันไม่อาจบอกสัจจะแก่เธอได้ ถ้าเธอไม่หยุดพูดสัจจะของตัวเอง” เพราะฉะนั้นหลายคนจะเห็นว่าหลายปีมานี้ผมไม่ค่อยพูด-เพราะผมอยากได้ยิน -เสกสรรค์ ประเสริฐกุล- “ถ้าเราจะเริ่มด้วยการให้คำจำกัดความหนังสือเล่มนี้ ผมว่าเราเริ่มผิดแล้ว เพราะที่จริงแล้วมันอาจจะไม่ใช่สิ่งที่เราจะไปตั้งชื่อหรือว่าให้คำนิยามได้ ในแต่ละบรรทัดของหนังสือเล่มนี้สามารถนำไปคิดต่อได้อีกเป็นเดือนเป็นปี เพราะฉะนั้นผมขอพูดเพียงว่า ‘หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่ให้คำตอบกับจิตวิญญาณ’ ซึ่งอาจจะไม่ใช่แง่มุมเดียวหรือสองมุม แต่ถ้าเรามีคำถามอะไรในเรื่องราวที่เกี่ยวกับจิตวิญญาณ นี่เป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่ผมคิดว่ามันให้ความกระจ่างได้ในหลายๆ เรื่อง แล้วแต่เนื้อนาบุญของแต่ละคนว่าสิ่งไหนรับได้ สิ่งไหนรับไม่ได้ บางท่านอาจมีปัญหากับคำว่า ‘พระเจ้า’ แต่อย่างผมไม่ค่อยมีปัญหา เพราะคนโบราณเขาก็เรียกรวมๆ ถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในสากลโลกว่า ฟ้าดิน เจ้าป่าเจ้าเขา ... มันก็เหมือนกัน ผมก็เลยไม่ค่อยมีปัญหาเท่าไหร่ถ้าได้ยินถ้อยคำเหล่านี้ ปีหลังๆ นี่ไม่ทราบเป็นเพราะอะไร ผมมักจะแสวงหาทางด้านจิตวิญญาณ พยายามหาคำตอบ เพราะรู้สึกว่าชีวิตในทางโลกมันตัน แล้วก็รู้สึกว่ามันไม่จีรังยั่งยืน ก็มีคนเดินเอาหนังสือดีๆ มาส่งให้อ่าน รวมทั้งหนังสือเล่มนี้ด้วย หนังสือทางด้านจิตวิญญาณเป็นหนังสือที่มีเหตุและผลกับตัวเอง ช่วยให้เราตอบคำถามเกี่ยวกับตัวเองได้ แต่อย่าทะลึ่งไปตอบเกี่ยวกับคนอื่น เพราะว่ามันจะผิด เพราะเราไม่เข้าใจเพียงพอ มันก็ต้องตอบเกี่ยวกับตัวเรา ถามไปเกี่ยวกับชีวิตของเรา ถ้าเราตอบได้ มันก็จะปลดล็อคลงไปทีละข้อ-ทีละข้อ ผมคิดว่าคนในโลกนี้มีอยู่ 2 ประเภท คือ หนึ่ง - คือคนที่ทำชั่วเพราะอยากทำชั่ว และสอง – ทำชั่วเพราะอยากทำดี และในการทำความดีแต่กลายเป็นทำชั่วเพราะที่จริงอยากทำดีนี่ เป็นเพราะว่าเรามักจะทำดีโดยไม่ถามความต้องการของผู้อื่น ผมเองก็เป็นคนหนึ่งที่ทั้งชีวิตพยายามทำความดี แต่กลายเป็นว่าต้องลงเอยด้วยการทำไม่ดีเอาไว้เยอะ ซึ่งผมมีประสบการณ์เยอะในการทำสิ่งที่ตั้งใจดี แต่ถึงที่สุดก็ให้ผลเป็นความเจ็บปวด ทั้งกับตัวเองและผู้อื่น มันทำให้ผมต้องตั้งคำถามใหม่ว่า ‘ผมมองโลกถูกต้องแล้วหรือ?’ สมัยเด็กๆ ผมจำได้ว่าผมเป็นคนจิตใจดีมาก ตอนอายุ 4 ขวบก็ชอบวาดรูป รักสัตว์ ร้องเพลง ชอบเล่นคนเดียวเงียบๆ อยู่ที่วัดตั้งแต่ 4 ขวบจนถึง 13 แล้วทำไมถึงเปลี่ยนไป จนท้ายที่สุดคนในประเทศไทยกลับจดจำผมไว้ในฐานะ ‘นักรบ’ ผมเข้าไปข้องเกี่ยวกับวิธีคิดแบบตะวันตก ซึ่งเราเรียกว่าลัทธิมากซ์ ผมเข้าไปมีส่วนในความขัดแย้งทางการเมืองที่เราพยายามใช้คำจำกัดความที่ตายตัวมาเป็นธงฆ่ากัน ทำให้สภาพจิตของผมหมุนวนอยู่กับการพิพากษาและตัดสินสิ่งต่างๆ อยู่นานมาก ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่อยู่ในตัวเองหรืออยู่ในตัวผู้อื่น ซึ่งผลที่ออกมาก็คือเจ็บกันทุกฝ่าย ตัวเองก็เจ็บ ในที่สุดสิ่งเหล่านี้ก็นำผมมาสู่คำถามว่า-แนวคิดที่เป็นอยู่นี้มันถูกแล้วหรือ มันเป็นมุมมองที่ถูกต้องจริงหรือ ซึ่งแน่นอนว่านี่คือการค้นคว้าทางด้านจิตวิญญาณของผม ทำให้ผมเรียนรู้ว่าในโลกนี้มันมีสิ่งที่มากกว่าการดำรงอยู่ของวัตถุ ทำไมผมจะต้องคอยต่อสู้ทำสงครามเพื่อกระจายรายได้ ทำไมผมถึงไม่คิดในอีกมุมหนึ่งว่าสิ่งทีเป็นอยู่มันอาจจะมีเหตุผลของมัน บางทีผมอาจจะมีวิธีที่ดีกว่านั้นในการอยู่ร่วมและปรับปรุงมันด้วย” “หนังสือบางเล่มต้องอาศัยประสบการณ์ชีวิตในการเข้าถึง” ในขณะที่อาจารย์เสกสรรค์บอกกล่าวกันตรงๆ ว่าไม่ได้ผูกพันหรือรู้สึกอะไรกับหนังสือเล่มนี้เป็นพิเศษ แต่เห็นด้วยว่า ‘สนทนากับพระเจ้า’ เป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่จะทำให้เราเข้าใจอะไรๆ เกี่ยวกับตัวเองได้ชัดขึ้น “ผมคิดว่าคนที่จะอ่านหนังสือแบบนี้ได้ ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่าชีวิตมันมีมากกว่าการดำรงอยู่ทางกายภาพ ชีวิตไม่ได้มีแค่ร่างกาย และไม่ได้แค่เกิดมาแวบเดียวในโลก เพียงแค่ 60 ปี 70 ปีแล้วก็แตกสลายไป ไม่มีความหมายใดๆ เพราะฉะนั้นคำถามทางด้านจิตวิญญาณมันอาจจะมีนัยยะอยู่บนพื้นฐานของความคิดที่ว่าชีวิตมันมีอะไรที่ลึกซึ้ง และมีความหมายมากกว่าการดำรงอยู่ภายนอก ซึ่งรวมทั้งร่างกายที่เป็นเนื้อหนังมังสาด้วย ในหนังสือเล่มนี้ ได้ให้คำตอบที่ผมจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือส่วนที่เหมือนกับเล่มอื่นๆ และส่วนที่เป็นพิเศษ ส่วนที่เหมือนกับหนังสือหรือคำสอนทางด้านจิตวิญญาณอื่นๆ ก็คือการที่หนังสือเล่มนี้พูดถึงความศักดิ์สิทธิ์ของชีวิต การสนทนากับพระเจ้า หรือ Conversation with God เป็นพื้นฐานทางศาสนา อาจจะรวมไปถึงศาสนาฮินดูก็ยังได้ นั่นคือความคิดที่ว่ามนุษย์ทุกคนล้วนมาจากพระผู้เป็นเจ้า มนุษย์เราไม่ได้เป็นแค่เศษเนื้อเศษหนังที่เกิดมาหายใจทิ้งหายใจขว้าง แต่เราคือการแสดงออกซึ่งตัวตนของพระผู้เป็นเจ้า ถ้าพูดในทางฮินดู เราก็มีส่วนหนึ่งของ ‘พรหม’ อยู่ในตัวเรา มี ‘อาตมัน’ เพราะฉะนั้น - ชีวิตทางด้านจิตวิญญาณของเราจะรำลึกนึกถึงสิ่งที่เราเป็นอย่างแท้จริง ซึ่งจะมีมากกว่าสิ่งที่เราเป็นอยู่ในสังคมแคบๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมไทย ตรงนี้เป็นสิ่งที่ผมเห็นว่าคล้ายกับหนังสือเล่มอื่น แต่อาจจะมีรายละเอียดแตกต่างออกไปบ้างเล็กน้อย สิ่งที่หนังสือเล่มนี้ให้มากเป็นพิเศษคือการ ‘ปลอบประโลม’ หนังสือเล่มนี้จะปลอบประโลมว่าในระหว่างที่เธอยังค้นหาไม่พบ และเธอยังเป็นสิ่งที่ไม่ใช่ตัวเธอ คือยังไม่มีลักษณะที่เป็นบุตรของพระเจ้าหรือเป็นส่วนหนึ่งของพระเจ้า พูดง่ายๆ คือยัง...อยู่ ก็ไม่เป็นไร เพราะเธอเลือกที่จะเป็นเช่นนั้น เธอยังไม่พร้อมจะเลือกเป็นอย่างอื่น ก็เป็นอย่างนั้นไปก่อน และสอนว่าอย่าไปแทรกแซงคนอื่น อย่าไปตัดสินใคร ต้องรอให้เจ้าตัวเขาพร้อม จากนั้นถ้าเขาพร้อมแล้ว เขาต้องการสิ่งแวดล้อมที่ดี เขาอยากจะเปลี่ยนไปสู่พัฒนาการที่ดีขึ้น หรือกลับไปสู่ความเป็นบุตรของพระเจ้า เราค่อยเข้าไปช่วย แต่ตราบใดที่เขายังไม่ขอร้อง เราไม่ต้องเข้าไปยุ่ง มันทำให้ผมเข้าใจและนึกถึงคำพูดของยิบรานที่บอกว่า ‘โลกที่เป็นธรรมนี้ยาก มันมากไปด้วยความหวังดีที่ล้นเกิน’ “ความเจ็บปวดเป็นผลมาจากการพิพากษาที่เธอมีต่อจิตใจตัวเอง ลบคำพิพากษานั้นเสีย บาดแผลจะหายไป” “หนังสือเล่มนี้ทำให้ผมเข้าใจเพิ่มเติมขึ้นเยอะเลยในแง่ของมุมมองที่มีต่อชีวิต อย่างเช่น เขาบอกว่า “ความเจ็บปวดเป็นผลมาจากการพิพากษาที่เธอมีต่อจิตใจตัวเอง ลบคำพิพากษานั้นเสีย บาดแผลจะหายไป” ซึ่งสิ่งเหล่านี้เราต้องคิดและทำตามให้ได้ การไม่พิพากษาในสิ่งที่มันเป็นความผิดในทัศนะของเรา การไม่ลงโทษกับผู้อื่นและเคร่งครัดกับตัวเอง พูดอย่างนี้เหมือนง่าย แต่จริงๆ ยากมาก แต่ก็ต้องทำ เพราะมันไม่มีทางเลือกอื่น ปกติแล้วคนเราจะเอาอัตตาของตัวเองไปประกบเสียเยอะ มองสังคมก็เอาอัตตาไปประกบว่า ‘กูไม่ชอบ’ มองคนอื่นกูก็ไม่ชอบ มองอะไรก็ไม่ชอบ หรือถ้ากูชอบ ต่อให้ใครไม่ชอบ กูก็จะชอบต่อไป อันนั้นเป็นทวิภาวะที่เราก้าวไม่พ้น เราก็จะมีความทุกข์ ในหนังสือเล่มนี้ยังอนุญาตให้เรามีอะไรอย่างนี้บ้างในตอนแรก แต่ในช่วงหลังๆ เราต้องก้าวข้ามให้พ้น การจะไปถึงขั้นปรมัตถ์ เราต้องก้าวพ้นการจับคู่ความขัดแย้งของสรรพสิ่ง เพราะการจับคู่จะทำให้เราอยากกลับไปทำลายสิ่งที่เราไม่ชอบ กลับไปทำลายสิ่งที่เราขัดแย้ง และยึดมั่นในสิ่งที่เราปรารถนา สิ่งเหล่านี้นำไปสู่ความทุกข์ทั้งนั้น ผมก็ต้องเลือกแล้วว่าชีวิตผมจะเป็นหนึ่งเดียวกับสรรพสิ่งได้ยังไง เป็นหนึ่งเดียวหมายความว่าเข้าใจความสัมพันธ์ว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของทั้งหมดได้ยังไง จะเรียกว่านั่นคือพระผู้เป็นเจ้าหรือจะเรียกว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์อะไรก็ตาม สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เป็นเรื่องที่เป็นโจทย์ทางด้านวิชาการ ไม่ใช่เป็นสมการทางด้านฟิสิกส์ แต่เป็นวิถีปฏิบัติที่คุณต้องชี้นำตัวเองอยู่ตลอดเวลา ขับรถออกจากบ้าน มีคนปาดหน้าแล้วผมด่า...-ก็เป็นอันจบ จบเลยวันนั้น ล้มเหลว... มันจะต้องนิ่งและเข้าอกเข้าใจ อย่างผม เมื่อ 2-3 เดือนมานี้ก็มีเรื่องท้าทาย คือที่คณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ มีหมาเยอะ เพราะบางคนมีความสุขกับการเลี้ยงหมา มันก็เลยชอบ แต่แล้วก็มีตัวหนึ่งไม่ชอบคนใส่หมวก ซึ่งมันเห็นผมก็จ้องจะกัด จะกระโจนใส่ ผมก็คิดคำถาม ทำไมคนอื่นมันไม่กัด หรือเพราะมันไม่ชอบคนใส่หมวก ปกติคนจะมาจับผมถอดหมวกไม่ได้ ผมจะมีอีโก้มาก แต่ผมไปคิดอยู่ 2-3 วัน ผมก็ถอดหมวก คือผมต้องเลือกแล้วว่า ระหว่างการถอดหมวกให้หมาเพื่อสละความสุขแล้วอยู่ร่วมกัน กับการรักษาเหลี่ยมนักเลงแล้วโดนกัดเอา ผมก็เลยเลือกถอดหมวก เพื่อให้หมารู้ว่าเราเป็นพวกเดียวกัน หรือเมื่อ 2 วันก่อน มีงูเห่าเข้ามาในบ้าน มาเผชิญหน้ากับหมาที่ผมเลี้ยง เป็นทางเลือกที่หวาดเสียวมาก ว่าผมจะฆ่างูหรือจะปล่อยให้งูฆ่าหมา เพราะในชีวิตที่ผ่านมา ผมฆ่าทั้งหมาและงูมาเยอะแล้วตอนที่ผมอยู่ในป่า ผมคิดอยู่ว่าจะทำยังไง ผมควรจะอยู่ร่วมกับมันไหม ในฐานะที่มันเป็นส่วนหนึ่งของพระเจ้าเหมือนกัน ในที่สุดผมก็ตัดสินใจไม่ทำร้ายงู แล้วจะทำอย่างไรไม่ให้หมาของผมไปยุ่งกับงู ผมก็ต้องลงคลานสี่ขาเข้าไปใกล้ๆ ทั้งหมาทั้งงู เพื่อเอาไม้ตีหมาให้หนีไป แล้วก็บอกงูว่า คุณกับผมไม่เคยมีอะไรกันนะเว้ย ฉะนั้น-ต่างคนต่างอยู่ และงูมันก็ไป ไม่ทำร้ายกัน ทั้งหมดนี้หมายความว่าอย่างไร นั่นหมายถึงว่าชีวิตในด้านจิตวิญญาณไม่ใช่เรื่องวิชาการ ซึ่งในหนังสือเล่มนี้เขาก็พูดถึง 3 ขั้นตอน ก็คือ หนึ่ง คุณจะต้องรู้ สอง มีประสบการณ์ ก็คือ Know, Experience และ สาม คือ Be หรือการเป็นอยู่ คือถ้าคุณมีประสบการณ์และความรู้ คุณก็จะดำรงอยู่ในสภาวะที่เป็นตัวตนที่แท้จริง ซึ่งก็คือการเป็นบุตรของพระเจ้า อันนี้จะตรงกับหลักของศาสนาพุทธที่พูดถึง ‘ปฏิบัติ ปฏิยัติ ปฏิเวช’ 3 ขั้นตอน ถ้าเราแยกกันแล้ว เราไม่อาจบรรลุอะไรเลย ทีนี้ชีวิตด้านจิตวิญญาณของผมที่ผ่านมา มันเป็นการปฏิบัติเสียมาก แต่ผมคิดว่ามันต้องเป็นองค์ 3 มันต้องครบถ้วนด้วยตัวของมัน คือจะแยกออกจากกันไม่ได้ มันจึงเป็นวัฎจักรที่หมุนเวียนอยู่ตลอดเวลา ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละวัน แต่ละชั่วโมง มีโจทย์อะไรที่คุณจะต้องทำ อาจสรุปได้สั้นๆ ว่าทุกคนล้วนดับ-เกิด ทุกชั่วโมง อย่าไปแยกว่าความดีต้องทำเวลาไหน หรือความดีต้องสงวนไว้ทำกับใคร ผมคิดว่ามันทำให้หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่สมบูรณ์แบบในแง่ของการแนะแนวทาง ในฐานะที่เราอยู่ในโลกปัจจุบันด้วยกัน ในหนังสือเล่มนี้ ‘พระเจ้า’ บอกว่า “ฉันไม่อาจบอกสัจจะแก่เธอได้ ถ้าเธอไม่หยุดพูดสัจจะของตัวเอง” เพราะฉะนั้นหลายคนจะเห็นว่าหลายปีมานี้ผมไม่ค่อยพูด เพราะผมอยากได้ยิน ผมอยากให้ฟ้าดินบอกผมบ้างว่าอะไรควรพูดไม่ควรพูด เพราะโดยปกติคนในสังคมนี้คาดหวังจะให้ผมเป็นคนบอก แล้วผมก็บอกอะไรไปผิดๆ ตั้งเยอะแยะจนไม่รู้จะตามไปลบล้างยังไง เพราะมันนานมาก หลายปีด้วย ชีวิตได้พาผมมาถึงจุดที่ไม่มีทางเลือก ผมก็ต้องทำ ผมต้องเงียบ เมื่อได้ทำแล้วก็รู้ว่าผลของมันออกมามหัศจรรย์มาก และประโยคที่หนังสือเล่มนี้เขียนคล้ายๆ คำสอนของศาสนาพุทธ นิกายเซน คือเซนถือว่าถ้าอยากรู้ถึงสัจธรรมต้องเงียบก่อน หยุดพูดสัจธรรม ต้องเงียบ ต้องนิ่ง แล้วความจริง ‘สัจจะ’ จะเข้ามาหาเธอเอง” |
|