เข้าระบบอัตโนมัติ

วิถีธรรม วิถีทาง ของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล


  • 1
ฝ่ามืออัสนีบาต
#1   ฝ่ามืออัสนีบาต    [ 19-09-2009 - 17:21:30 ]

ในห้องสี่เหลี่ยมเงียบสงบ ห้องที่การสนทนากำลังจะเริ่มขึ้น เครื่องบันทึกเสียงถูกนำขึ้นมาวางอยู่บนโต๊ะ ไล่เลี่ยกับการปรากฏตัวของเสกสรร ประเสริฐกุล ผู้เขียนหนังสืออันลุ่มลึกที่ชื่อ วิหารที่ว่างเปล่า และ ผ่านพบไม่ผูกพัน
ถ้าย้อนอดีตกลับไปเมื่อประมาณ ๒๐ ปีที่แล้ว ปาจารยสารยุคใหม่ (ตุลาคม – พฤศจิกายน ๒๕๒๗) เคยสัมภาษณ์เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ในมุมมองต่อชีวิตและความคิดของเขา ในพ.ศ.นี้ และในวาระ ๑๐๐ ปีชาตกาลพุทธทาสภิกขุ ปาจารยสารได้กลับมาสัมภาษณ์เขาอีกครั้ง

วันเวลาที่เปลี่ยนแปลง อะไรคือตัวตน หนทาง และการคลี่คลายของเขา?...
เครื่องบันทึกเสียงเริ่มหมุน วิทยากร โสวัตร นักสัมภาษณ์หนุ่มก็เริ่มต้นบทสนทนา


นักเลงโบราณกับนักรบต่างกันอย่างไรครับ

ตามความเข้าใจของผม สังคมโบราณมักไม่ค่อยแยกเรื่องทางโลกกับทางธรรม เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะทำอะไรหรือเป็นอะไร จึงล้วนมีธรรมะกำกับ เช่นผู้ปกครองประเทศมีหลักทศพิธราชธรรม หลักจักรวรรดิวัตร ๑๒ เป็นต้น ลงมาถึงการใช้ชีวิตของคนธรรมดาสามัญก็ต้องใช้ธรรมะกำกับ แม้แต่คนที่เป็นนักเลงหรือนักรบก็ต้องถือศีลเป็นบางข้อ

คนที่เป็นนักเลงนักรบ ผมเข้าใจเอาว่า คือคนที่มีความกล้าหาญเป็นเจ้าเรือนและมีจริตรักการต่อสู้พระท่านจึงสอนให้เอาคุณสมบัติไปใช้ในทางบวก เช่นปกป้องคุ้มครองคนที่อ่อนแอกว่า ไม่ข่มเหงรังแกใคร รักศักดิ์ศรี ถือสัจจะวาจา อะไรประมาณนี้ เพราะถ้าไม่สอนเดี๋ยวจะใช้พลังไปในทางที่ผิดได้

จำเป็นไหมที่เด็กหนุ่มควรจะมีลักษณะโบราณในด้านบวกแบบนั้น

ไม่จำเป็น บุคคลิกภาพเป็นเรื่องของมายา มันเปลี่ยนไปได้เรื่อยๆตามกฏอนิจจัง สิ่งที่เราควรสนใจคือจะอยู่ร่วมกันอย่างไรให้มีความผาสุก จากจุดหมายตรงนั้นเราค่อยถอดออกมาเป็นรหัสพฤติกรรมว่าควรกำกับด้วยธรรมะข้อไหน ซึ่งจริงๆแล้ว โดยแก่นแท้ของความเป็นคน ผมว่าเราอาจไม่ได้เปลี่ยนไปมากนัก เรายังจำเป็นต้องอาศัยศีลธรรมมาช่วยในการอยู่ร่วมกัน หรือถ้าจะให้ไปไกลกว่านั้น ก็ยังต้องอาศัยธรรมะขั้นสูงมาช่วยดับทุกข์ เพียงแต่ว่าบางครั้ง ในนามของยุคสมัย เรามักจะหาเหตุยกเลิกคำสอนเหล่านี้เสียดื้อๆ เพื่อความสะดวกในการทำบาป เช่น อยากคดโกง เราก็มีคำอธิบาย หรืออยากใช้อำนาจกับคนอื่น ก็มักมีคำอธิบาย อยากจะเห็นแก่ตัว มีคำอธิบายได้สารพัด พอคำอธิบายเหล่านี้ไปขัดแย้งกับหลักธรรม เราก็พาลเหมาว่าธรรมะเป็นเรื่องล้าสมัย แบบนี้ทำให้สังคมอยู่ไม่เป็นสุข


ไม่รู้ว่าคุณมาถามผมเรื่องนักเลงนักรบทำไม


เพราะว่ามีหนังสือของทิเบตเล่มหนึ่งเรื่องชัมบาลา พูดถึงวิญญาณนักรบฝ่ายธรรม ฝ่ายมโนธรรม อยากทราบมิตินี้ของอาจารย์ว่าความเป็นนักรบภายนอก-ภายในเกี่ยวข้องกันไหม

ผมเห็นด้วยว่าความกล้าหาญของนักรบภายนอกมีส่วนคล้ายกับการรบกับกิเลสภายในของนักบวช นอกจากนี้การเป็นนักรบในทางโลกก็อาจเป็นบันไดทอดไปสู่การสลายตัวตนในขั้นปรมัตถ์ได้ คือคนเป็นนักรบนี่ มักจะต้องหาวิธีฝึกปล่อยวางตัวตน อย่างน้อยเพื่อไม่ให้เกิดความสับสนทางจิตเวลาเผชิญกับสถานการณ์สู้รบและเพื่อมอบตัวให้จุดหมายของการต่อสู้ กระบวนการอันนี้มันสามารถเป็นพื้นฐานที่ส่งต่อไปสู่การสลายอัตตาได้ เพียงแต่ว่าถ้ายังไม่มีแรงบันดาลใจจะไปไกลกว่าการเป็นนักรบ ก็อาจจะหยุดอยู่แค่การเป็นยอดฝีมือ ซึ่งเป็นวิถีชีวิตอีกแบบหนึ่ง กึ่งๆนักบวช

ยกตัวอย่างวีรบุรุษในโลกตะวันออกเช่นมูซาชิ เขาฝึกเพลงดาบโดยฝึกธรรมะไปด้วย เพราะว่าคนที่จะใช้ดาบให้ได้อย่างมีพลังนี่ มันจะต้องผนึกตัวเองเป็นหนึ่งเดียวกับดาบให้ได้ การทำเช่นนั้นไม่ใช่แค่เรื่องเทคนิคหากเป็นเรื่องของจิตวิญญาณ ซึ่งหมายความว่าจิตของคุณต้องนิ่งมาก ตัวตนในความหมายสามัญหายไปหมด เรื่องกลัวตายไม่กลัวตายไม่ใช่ประเด็นอีกต่อไป ที่สำคัญคือเป็นหนึ่งเดียวกับดาบ ทุกอย่างต้องเคลื่อนไหวไปพร้อมกัน หรือเคลื่อนไหวอย่างประสานสอดคล้องกัน ไม่ไปคนละทิศละทาง วิชาดาบระดับนี้จึงเป็นสมาธิขั้นสูงด้วย


ในส่วนตัวที่อ่านงานอาจารย์มาตลอดตั้งแต่อายุ ๑๗ ปี มีอยู่ประมาณปี ๒๕๓๙ ที่ผมอ่านเรื่อง ผู้ชายที่กำลังสูญพันธุ์ พออ่านหนังสือของอาจารย์มาเรื่อยๆ จนถึงเล่มล่าสุด (ผ่านพบไม่ผูกพัน) ผมเห็นพัฒนาการความเป็นนักรบทั้งภายนอกและภายในของหนังสือเล่มนี้ ซึ่งก็เป็นที่ยอมรับมากๆ แต่ในขณะที่สังคมเขาบอกว่าถ้าไม่ปรับตัวก็ต้องสูญพันธุ์ ผมก็รู้สึกหวั่นๆ อยู่ว่า เผ่าพันธุ์ อย่างอาจารย์ จะสูญไปด้วยหรือเปล่า เหมือนว่าอาจารย์ปักธงไปว่าไม่เปลี่ยน แต่จะพัฒนาตรงไปอย่างนี้แหละ

ในทางจิตวิญญาณแล้ว ผมไม่คิดว่าวิถีที่ผมเดินจะสูญหายไปไหน เพียงแต่ในยุคปัจจุบันจำนวนคนที่เดินบนเส้นทางนี้อาจจะน้อยลง ตอนนี้สังคมไทยกำลังเปลี่ยนเร็วมาก จากสังคมโบราณกระโดดมาเป็นสังคมทุนนิยมสมัยใหม่ จากทุนนิยมท้องถิ่นกลายเป็นทุนโลกาภิวัตน์ในเวลาไม่กี่ปี สภาพเช่นนี้ได้ส่งผลกระทบต่อจิตวิญญาณคนมหาศาล เพราะทุนนิยมเป็นระบบที่มุ่งหาผลประโยชน์ส่วนตัวอย่างไม่มีขอบเขต ส่วนสังคมโบราณกลับเน้นเรื่องขอบเขตของประโยชน์ส่วนตัว มีทั้งขอบเขตทางศีลธรรม และขอบเขตทางวัฒนธรรม ที่สอนกันมาคนโบราณมีความรักเพื่อน พี่น้อง อีกทั้งยังกลัวบาปกลัวกรรม ถ้าใครบังเอิญมั่งมีขึ้นมาก็ถูกสอนให้รู้จักแบ่งปัน ถูกสอนให้ดูแลชุมชน อะไรทำนองนั้น สิ่งเหล่านี้มันเป็นอุปสรรคของการหาผลประโยชน์ส่วนตัว เพราะฉะนั้นโดยธรรมชาติของมัน เมื่อถึงจุดหนึ่งระบบทุนนิยมจะเร่งยกเลิกศีลธรรม ยกเลิกคุณธรรมทั้งปวงที่สอนกันมาแต่โบราณ เพื่อไม่ให้มันเป็นอุปสรรคต่อการบริโภค การเอากำไรสูงสุด หรือพูดง่ายๆคือไม่ให้มันเป็นสิ่งกั้นขวางการขยายตัวของระบบทุน

แน่นอนเขาไม่ได้โง่ แบบที่อยู่ดีๆ ก็มาบอกให้ยกเลิกคุณธรรมดั้งเดิม แต่มันจะออกมาในรูปปรัชญาใหม่ หลักการใหม่ ทฤษฎีใหม่ทางสังคม เช่นลัทธิปัจเจกชนนิยม ลัทธิเสรีนิยมใหม่ หรือแม้แต่บางด้านของแนวคิดโพสต์โมเดิร์น แนวคิดเหล่านี้อธิบายความยืดหยุ่นทางศีลธรรมมากขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งในที่สุดก็หลุดไปเลย ในสภาพเช่นนี้ การเป็นลูกผู้ชายที่ซื่อสัตย์ จริงใจ รักษาสัจจะวาจา รักเพื่อนพ้อง รวมทั้งไม่ก้มให้กับสิ่งที่ผิดมันกลายเป็นความล้าหลังในทัศนะของกระแสหลัก อย่างที่ผมเคยเขียนเรื่องผู้ชายที่กำลังจะสูญพันธุ์ ความจริงไม่ใช่ตามไม่ทันเขา แต่มันขัดแย้งกันโดยตรง บุคลิกภาพอย่างผมนี่มันเข้ากันไม่ได้กับเศรษฐกิจฟองสบู่ หรืออย่างคุณก็เหมือนกัน มันเข้าไม่ได้กับระบบที่แข่งขันเอารัดเอาเปรียบ เพราะเราเชื่อเรื่องความสมถะสำรวม เชื่อเรื่องแบ่งปันช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เพราะฉะนั้น มันจึงเกิดสภาพที่เรารู้สึกถูกกดดันและถูกตามล่าตามล้าง เหมือนที่ผมเขียนไว้ในเรื่อง คนกับเสือ ไม่ว่าเราจะอยู่ตรงไหน มันเหมือนกับว่าเราไม่เคยพบกับการต้อนรับที่ดี เราเข้ากับเขาไม่ได้

เมื่อ ๑๐ ปีที่แล้วผมเขียนงานประเภทนี้เยอะ เพราะในยุคเศรษฐกิจฟองสบู่ระหว่างทศวรรษ ๒๕๓๐ กว่าๆ ถึง ๒๕๔๐ ผมรู้สึกแปลกแยก โดดเดี่ยวมาก คิดอะไรไม่เหมือนเพื่อนพ้องคนรอบข้าง ช่วงนั้นผมจะออกทะเลทั้งปีทั้งชาติ เข้าป่าออกทะเลเป็นประจำ เมื่ออยู่กับพวกเขาไม่ได้เราก็ต้องปลีกวิเวก งานเขียนชิ้นที่ผมใส่คำถามไว้มากที่สุด อาจจะอยู่ในหนังสือชื่อ เพลงเอกภพ ประมาณปี ๒๕๓๕–๓๖ และ คนกับเสือ ในปี ๒๕๓๙ ซึ่งทั้งหมดเป็นงานเชิงความคิด เป็นคำถามต่อสังคมที่กำลังเปลี่ยนไปสู่ทุนนิยมแบบสุดขั้ว และเป็นคำถามต่อความหมายของชีวิตตัวเองในโลกแบบนี้ด้วย



แล้วทั้งหมดนี้คลี่คลายมาสู่ ผ่านพบไม่ผูกพัน อย่างไรครับ คำถามของอาจารย์ตกไปแล้วหรือเปล่า

ในช่วงพ้น ๒๕๔๐ มา เศรษฐกิจไทยอยู่ในสภาวะฟองสบู่แตก จากนั้นสังคมก็มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ไม่น้อย เราถูกไอเอ็มเอฟกดดันให้เปิดประเทศเสรีทั่วด้าน ขณะเดียวกันก็มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งเปิดพื้นที่ให้ทั้งการเมืองภาคประชาชนและกลุ่มทุนใหญ่เข้ามากุมอำนาจ พูดกันสั้นๆคือมันเป็นจังหวะที่สังคมไทยอาจจะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงได้บ้าง ถ้ารู้จักเรียนรู้จากวิกฤตที่เกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม โดยส่วนตัวช่วงนี้กลับเป็นช่วงที่ผมรู้สึกเหนื่อยล้าหมดแรงอย่างยิ่ง ยกเว้นระยะสั้นๆที่มิตรสหายกดดันผมให้ไปนำกลุ่มปXป (ประชาธิปไตยเพื่อประชาชน)แล้ว ผมแทบไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องบ้านเมืองเลย การเผชิญความทุกข์อันเนื่องมาจากการคิดต่างจากกระแสหลัก การยืนต้านสังคมในมิติทางวัฒนธรรมและจิตวิญญาณมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน มันพาผมมาถึงจุดที่หมดแรง กระทั่งนำไปสู่ชีวิตส่วนตัวที่ล้มเหลว หลัง ๒๕๔๐ ไม่นาน ผมกับภรรยาได้แยกทางเดินกัน แม้เราจะไม่ได้โกรธเกลียดกันและเพียงเปลี่ยนความสัมพันธ์จากคู่ครองมาเป็นเพื่อน แต่มันก็สั่นคลอนความรู้สึกนึกคิดของผมอย่างถึงราก ตอนนั้นผมเริ่มเข้าสู่วัย ๕๐ กว่าแล้ว ผมต้องถามตัวเองว่าจะยืนต้านกระแสหลักในสังคมแบบที่ผ่านมาแล้วสะสมความเจ็บปวดขมขื่นต่อไป หรือควรเปลี่ยนมุมมองและพฤติกรรมเสียใหม่เพื่อให้มีชีวิตอยู่ได้ มันมีหนทางไหนบ้างที่เราไม่ต้องทุกข์ทรมานขนาดนี้ขณะเดียวกันก็ไม่ต้องยอมเป็นส่วนหนึ่งของโลกที่เราไม่เห็นด้วย พูดกันสั้นๆคือในช่วงนี้ผมได้ลงลึกไปในการสำรวจวิจารณ์ตัวเองอย่างเอาเป็นเอาตายและในที่สุดก็ค้นพบว่ามันอาจจะมีอะไรไม่ถูกในวิธีคิดของผมเอง คือ

ประการที่หนึ่ง ที่ผ่านมาผมยึดถือในการต่อสู้และมองโลกเป็นความขัดแย้งมากเกินไป ที่ทางธรรมะเขาเรียกว่าทวินิยม (Dualism) คือเห็นว่าทุกอย่างดำรงอยู่เป็นคู่ มีดีมีชั่ว มีขาวมีดำ แล้วก็ไปยืนเลือกข้างใดข้างหนึ่งอยู่ตลอดเวลา ต่อสู้กันมากมันก็เหนื่อยมาก ตัวผมเองทั้งถูกทำร้ายและทำร้ายผู้อื่นมาอย่างต่อเนื่อง

ประการที่สอง ผมเริ่มมองเห็นว่าอะไรหลายๆ อย่างที่ผมยึดถือ เป็นเรื่องที่ผมคิดไปเอง เป็นอัตวิสัย ที่โลกเขายังไม่พร้อมจะเห็นด้วย เราพยายามเอาตัวเองไปบังคับโลก เมื่อไม่ได้ดังใจก็ผิดหวังเศร้าโศก แล้วยังโดนเขาตอบโต้มาแรงๆ กระทั่งคนใกล้ตัวคนใกล้ชิดเขาก็ปฏิเสธสภาพแบบนี้ เพราะฉะนั้น เหตุแห่งทุกข์ จึงอยู่ในอัตตาของเราเองด้วย ไม่ว่าจะเรียกมันว่าอุดมคติหรืออุดมการณ์อะไรก็ตาม

การวิจารณ์ตัวเองในลักษณะนี้ได้พาผมย้ายความคิดจากทางโลกมาสู่ทางธรรมมากขึ้นแบบรู้ตัวบ้างไม่รู้ตัวบ้าง แต่นั่นยังไม่มีผลเปลี่ยนแปลงผมเท่ากับประสบการณ์ทางจิตวิญญาณที่เกิดขึ้นระยะนั้น ประสบ การณ์ดังกล่าวมีพลังมากกว่าเหตุผลและความคิดใดๆ

พูดให้ชัดขึ้นก็คือความที่เจ็บปวดกับชีวิตมาก ผมจึงพลัดหลงเข้าไปสู่อนัตตาหรือสภาวะว่างตัวตนโดยไม่ได้คาดคิดมาก่อน ผมขอใช้คำว่าพลัดหลงเพราะไม่อยากให้เข้าใจผิดว่ามาอวดอ้างอะไร ตอนนั้นพอทนเจ็บไม่ไหวผมเลยพาลเลิกคิดว่าผมเป็นใคร เมื่อไม่เป็นใครก็เลิกมีความต้องการใดๆไปด้วย ผมเลิกคิดว่าตัวเองเป็นใครเพราะว่าความมีตัวตนมันผูกติดอยู่กับข้อมูลต่างๆที่เป็นบาดแผลของชีวิต อันที่จริงผมไม่เพียงหยุดคิดเรื่องอดีตเท่านั้น แม้แต่อนาคตก็ไม่มีให้คิดถึง เนื่องจากทุกอย่างที่เคยคิดว่าเป็นชีวิตของเรามันพังพินาศไปหมดแล้ว นอกจากนี้ผมก็ไม่ได้แชร์ความคิดเรื่องอนาคตกับคนทั่วไปอีกต่างหาก บวกรวมแล้วผมเลยกลายเป็นคนที่อยู่กับปัจจุบันขณะไปโดยไม่ได้ตั้งใจ อยู่ทีละนาที อยู่ทีละห้วงขณะ โดยไม่รู้ตัว ซึ่งทั้งสองอย่างนี้ การเลิกคิดว่าตัวเองเป็นใครก็ดี กับการเลิกอยู่กับอดีตกับอนาคต แล้วอยู่กับปัจจุบันก็ดี ผมมารู้ทีหลังว่ามันคือการทำสมาธินั่นเอง

ในตอนแรกผมทำสิ่งนี้ไปเพื่อหาทางดับทุกข์ด้วยตัวเอง โดยไม่มีทฤษฎีอะไรชี้นำ แต่ว่าทำแล้วรู้สึกว่ามันช่วยให้อยู่รอดในช่วงที่เราอาจจะอยู่ไม่รอด ก็เลยยึดไว้เป็นแนวทาง พอไม่คิดว่าตัวเองเป็นใครนี่ ความรู้สึกทุกข์ร้อนมันหายไปมาก ข้อแรกไม่เดือดร้อนว่าคนอื่นจะมองเราอย่างไร ข้อสองไม่มีความเห็นว่าโลกและชีวิตควรจะเป็นอย่างไร เราไม่มีข้อเรียกร้องทั้งต่อตัวเองและผู้อื่น เช่นเดียวกับการที่เราไม่เอาอดีตมากลุ้มและเอาอนาคตมากังวล มันทำให้เราไม่มีสิ่งที่ผิดหวัง ไม่มีสิ่งที่เสียใจ ผมทำอย่างนี้อยู่พักใหญ่ ทีแรกก็เหมือนกับหลอกตัวเองด้วยการปิดกั้นความทุกข์โศกไม่ให้มันเข้ามาในห้วงนึก แต่พอทำไปมากขึ้น ปรากฏว่ามันเกิดการเปลี่ยนแปลงทางจิตขึ้นมาโดยไม่ได้คาดฝัน คือตื่นขึ้นมาวันหนึ่งผมรู้สึกมีความสุขอย่างไม่มีเหตุมีผล ผมรู้สึกได้ว่าความสุขมันมาจากข้างใน มันอยู่ในตัวผม เป็นความปลื้มปีติอะไรบางอย่างที่ไม่เกี่ยวกับโลกภายนอกเลย เรื่องราวทุกข์โศกที่เคยมีมาดูเหมือนจะหายไปหมด

จากนั้นความรู้สึกที่ผมมีต่อโลกรอบๆตัวก็เปลี่ยนไปด้วย ผมเริ่มไปนับญาติกับต้นไม้ จิ้งจกนกหนูกระรอกที่อยู่ในบริเวณที่พักอาศัย ผมพูดกับพวกเขาเหมือนเป็นคนด้วยกัน ทำร้ายเขาแบบเดิมๆไม่ได้ กระทั่งมดผมก็ไม่ฆ่า จิ้งจกตกไปในโถส้วมก็คอยช่วย มดมาขึ้นชามอาหารที่ผมให้หมานี่ ผมต้องเคาะออก ไม่เอาน้ำราดลงไป จนกว่าพวกเขาจะไปหมดแล้วค่อยเอาไปล้าง ทั้งหมดนี้มันเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ มันรู้สึกขึ้นมาเองว่าไม่อยากทำร้ายชีวิตใดๆ ผมแปลกใจมากเพราะว่าเดิมเป็นคนที่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตมาเยอะ อย่าให้ผมพรรณนาเลยว่าทำอะไรมาบ้าง ผมเป็นคนที่ทำบาปมาเยอะมาก วันดีคืนดีพบตัวเองมีจิตใจแบบนี้ มันอธิบายไม่ถูกเหมือนกันว่าเป็นไปได้อย่างไร

แล้วที่สำคัญก็คือว่า ในความเบิกบานจากข้างในนี้ ผมเลิกรู้สึกพ่ายแพ้ขมขื่นกับชีวิตโดยสิ้นเชิง ผมไม่รู้สึกว่าตัวเองมีอะไรน่าสงสาร ไม่ทุกข์ร้อนที่เคยแพ้สงครามปฏิวัติ หรือมีปัญหาส่วนตัวอะไรทั้งสิ้น เป็นครั้งแรกที่ผมมองอดีตของตัวเองได้ทุกเรื่องด้วยความรู้สึกนิ่งเฉย

สิ่งเหล่านี้มันทำให้ผมค้นพบว่าชีวิตนี่ทุกข์สุขขึ้นอยู่กับมุมมองมากทีเดียว และบ่อยครั้งเรามักเอาความคิดสารพัดไปปรุงแต่งมันจนรกรุงรังไปหมด กระทั่งหาแก่นแท้ไม่เจอ บางคนยึดติดเงื่อนไขภายนอก โดย เฉพาะเงื่อนไขทางวัตถุและการชื่นชมของสังคม ก็หลับหูหลับตาหาแต่วัตถุและการยอมรับของคนอื่น บางคนอย่างผมไม่ยึดถือวัตถุมากเท่ากับยึดติดในอุดมคติต่างๆ ก็ทำให้เกิดอารมณ์ทางลบสูงมาก เราจะต้านทุกอย่างที่ไม่เป็นไปตามคิด ผูกตัวเองไว้กับตัวความคิด แล้วหลงความคิด จิตใจก็มีแต่ว้าวุ่น ฟุ้งซ่าน ทะเลาะเบาะแว้ง ทุกข์ร้อนอยู่ตลอดเวลา ผมดีใจที่หลุดมาจากตรงนั้นได้

จากนั้นงานเขียนของผมก็เริ่มเปลี่ยนไป จริงๆ มันร่ำๆ จะเปลี่ยนตั้งแต่ วิหารที่ว่างเปล่า แล้ว จาก วิหารที่ว่างเปล่า ผมมารับเขียนคอลัมน์ในหนังสือ Travel Guide ตรงนี้เห็นได้ชัดว่าสำนึกใหม่มันเข้ามาอยู่ในงาน ซึ่งต่อมารวมเล่มเป็น ผ่านพบไม่ผูกพัน อันที่จริงผมเขียนงานชิ้นนี้โดยไม่ได้ศึกษาปริยัติหรือ ทฤษฎีทางจิตวิญญาณเท่าใด มันเป็นการเขียนมาจากความรู้สึกข้างในของตัวเองทั้งหมด จนกระทั่งหนังสือออกมาแล้ว ความหิวกระหายทางธรรมค่อยพาผมมาสู่การอ่านตำรามากขึ้น ผมอ่านไปทั่วตั้งแต่งานของท่านพุทธทาสและผู้รู้ฝ่ายเถรวาท ตำราวัชรยานของทิเบต ตำราเซ็น เต๋า หนังสือทางด้านจิตวิญญาณของชาวตะวันตก ผมอ่านแม้กระทั่ง ตำราโยคะศาสตร์ คัมภีร์และคำสอนต่างๆของฮินดู ผมพยายามอ่านคำสอนของครูบาอาจารย์ทางจิตวิญญาณให้กว้างขวางที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อให้ตัวเองเข้าใจชีวิตในมิตินี้มากขึ้น จากนั้นจึงพบว่าสิ่งที่เขียนไว้ใน ผ่านพบไม่ผูกพัน น่าจะมาถูกทางแล้ว ผมได้รับการยืนยันย้อนหลังโดยคำสอนที่มีมาแต่โบราณ


เทียบเคียงกันระหว่างนักรบกับนักบวช อาจารย์เคยเขียนถึงเรื่องความตาย อ้างถึงคุณพ่ออาจารย์ที่ออกทะเล ชีวิตต้องเผชิญกับความปรวนแปรไม่แน่นอนของคลื่นลม และที่พูดถึงชีวิตตัวเองยามที่ยังสู้รบอยู่ในป่าเขา ว่าทำให้เราต้องมองความตายอย่างใกล้ชิด ในแง่มุมที่ไม่ได้แปลกแยกไปจากตัวเรา กระทั่งมองเห็นมันแบบโรแมนติก ในแง่นี้พอพูดได้หรือไม่ว่าเป็นกระบวนการของเข้าถึงชีวิตด้านในได้เหมือนกันใช่ไหม

ตามความเข้าใจของผมในเวลานี้ ความคิดของผมก่อนหน้าที่จะมาเขียน ผ่านพบไม่ผูกพัน แม้แสวงหาตัวตนขั้นสูงก็จริงแต่มันก็ยังเป็นตัวตน เป็นอัตตาที่ยังยึดตัวตนเป็นศูนย์กลางในการประกาศความ คิดและทำตามความคิด ตอนนั้นผมมองเห็นแค่นั้นก็ทำไปตามนั้น คือมองว่าการเป็นนักรบของฝ่ายประชาชนหรือว่าการต่อสู้เพื่ออุดมคติเป็นสิ่งที่ถูกต้อง กระทั่งสูงส่งเพราะมันเป็นการทำเพื่อผู้อื่น

แต่ว่ามองย้อนหลังไปแล้ว ผมพบว่าความคิดดังกล่าวไม่ว่าจะดูสูงส่งในโลกสักแค่ไหนก็ยังผูกติดอยู่กับการดำรงอยู่แบบตัวกู-ของกู เรามีกิเลสอยากทำดี เป็นตัณหาขั้นสูง แต่ว่าก็ยังเป็นตัณหาอยู่ดี พอผมหยุดคิดในลักษณะนี้ แล้วก้าวพ้นความยึดติดในเรื่องวีรกรรม เพดานความคิดก็ไปอีกขั้นหนึ่ง ซึ่งผมไม่ขอยืนยันว่านี่เป็นการรู้แจ้งบรรลุธรรมอะไรทั้งสิ้น อย่างไรก็ตามผมพบว่ามันทำให้จิตใจผมต่างจากเดิมมาก ทำให้ผมไม่สนใจไปประกาศนามทำคุณงามความดีตามข้อเรียกร้องของใครทั้งสิ้น จิตใจผมไม่สนใจตรงนั้นเลย หากจะพอใจอยู่กับความสงบนิ่งภายใน แล้วความสงบนิ่งนั้นจะพาเราไปทำสิ่งดีๆโดยธรรมชาติของมัน เราไม่ได้ทำเพื่อคนอื่นแต่เราทำเพราะรู้สึกดีที่จะทำ เราไม่ได้ทำเพื่อผู้อื่นเพราะเราไม่ได้แยกสภาวะออกเป็นตัวเองและผู้อื่น ด้วยเหตุนี้เราจึงไม่ใส่ใจว่าสิ่งที่เราทำเป็นเรื่องยิ่งใหญ่อะไรนักหนา หรือเป็นคุณงามความดีที่ต้องบันทึกไว้ ไม่ใช่เลย เราทำเพราะว่าเรามีความสุขที่จะทำ จบแค่นั้น

สรุปสั้นๆคือชีวิตด้านในของนักอุดมคติแบบที่ผมเคยเป็น มันเป็นแค่ขั้นเริ่มต้นของการขัดเกลาตัวเองไม่ให้ติดอยู่กับวัตถุภายนอกหรือความเห็นแก่ตัวแบบดิบๆเท่านั้น หากไม่วิวัฒนาการต่อก็อาจจะติดกับอยู่ในความคิดของตัวเองได้ จะว่าไปตัวตนขั้นสูงก็เป็นโซ่ตรวนอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งสลัดยากมาก เพราะมันงดงามและผูกติดอยู่กับสรรเสริญ



เช้าที่อาจารย์ตื่นขึ้นมาแล้วพบว่าความรู้สึกเปลี่ยนไป หมายถึงอาจารย์มองย้อนกลับไปจึงเห็นถึงความสุข ความรู้สึกนั้น หรือว่าอาจารย์เห็น ณ ขณะนั้นเลย

รู้สึกได้ตั้งแต่ขณะนั้น แต่มองย้อนหลังแล้วก็ยิ่งชัดเจนขึ้น เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นประมาณปี ๒๕๔๕ มันเกิดขึ้นดังที่ผมได้เล่าให้ฟังแล้วว่าความเจ็บปวดทำให้ใช้วิธีตัดตัวเองออกจากอดีตและอนาคต ทำให้ผมอยู่กับปัจจุบันขณะ ซึ่งถ้าพูดในภาษาธรรมเวลานี้ผมรู้แล้วว่ามันคือสมาธิ แต่ตอนนั้นผมไม่รู้ว่าคืออะไร รู้แต่ว่าสบายใจโปร่งโล่งไปหมด อยู่กับปัจจุบันขณะนี่ มันทำให้เราปลดแอกตัวเราออกจากภาระทางจิต ที่เราแบกมาตลอดว่าเราเป็นใคร มาจากไหน เคยผ่านอะไรมาบ้าง ข้างหน้าจะเป็นอย่างไร เราปลดออกหมด เรียกว่าปลดแอกจากอัตตา ซึ่งตอนนั้นผมทำไปโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว เพราะฉะนั้นถึงบอกว่า ผมพลัดหลงเข้าไปสู่อนัตตา แต่ว่ามันไม่ได้คงสภาพเช่นนั้นได้อย่างต่อเนื่อง เป็นอยู่พักใหญ่หลายเดือน แต่จากนั้นก็ยังไม่นิ่งพอ มีกลับมาหวั่นไหว กลับมามีทุกข์ในบางครั้งบางคราว กระทั่งทุกวันนี้ก็มีบางอารมณ์ที่รู้สึกเหมือนตัวเองยังเวียนว่ายอยู่กับความทุกข์ แต่ว่าโดยพื้นฐาน ผมคิดว่านั่นเป็นจุดเปลี่เปลี่ยนของผม เพราะว่ามันทำให้ผมไม่สามารถกลับไปมองโลกแบบเดิมได้อีกต่อไป



ภาวะอย่างนี้ผมมองว่าทุกคนก็เคยผ่าน เคยสัมผัส อย่างผมก็เหมือนกัน ซึ่งเราก็มีความสุขนะ แต่ปัญหามันคือ มันอยู่ได้ไม่นาน พอสักพักหรือวันต่อมาก็หายไป อยากจะกู้กลับหรืออยากให้อยู่นานๆ จะทำอย่างไร

ผมไม่เคยทราบมาก่อนว่าทุกคนเคยผ่าน เพราะผมเองกว่าจะได้สัมผัสก็อายุมากแล้ว ผมคิดว่าถ้าเราจะพูดกันในขั้นนี้ อันดับแรกคงต้องยอมรับก่อนว่าสภาวะเช่นนั้น ถึงไม่ใช่ก็ใกล้เคียงกับสิ่งที่เรียกว่า จิตว่าง เป็นภาวะสุญญตา ซึ่งท่านพุทธทาสท่านสอนไว้ว่ามันไม่ได้เกิดแล้วจะต้องยั่งยืนเสมอไป บางครั้งเกิดชั่วคราว บางครั้งเข้าไปใกล้ๆ แล้วถอยกลับมาได้ ซึ่งความจริงของชีวิตผมก็เป็นเช่นนั้น คือมีถดถอยกลับมา ทุกวันนี้ผมเองก็ไม่กล้าอ้าง ไม่กล้ายึดถือว่าตัวเองไปถึงไหน แต่ว่าผมมีความพยายามจะเดินทางธรรม ซึ่งตรงนี้ผมพอจะยืนยันได้ และอาศัยประสบการณ์ตรงนั้นเป็นบรรทัดฐาน มันทำให้เราเห็นว่าโอกาสที่จะพ้นทุกข์ในมรรควิธีแบบนี้น่าจะเป็นไปได้ มันทำให้เราได้ลิ้มรสความสุขสงบจากภายใน และเริ่มเข้าใจอะไรๆมากขึ้น เช่น คำสอนที่ว่าตายก่อนตาย หมายความอย่างไร มันเป็นการตายของอัตตา เป็นการตายของสำนึกผิดๆ แล้วเปลี่ยนมามีสติสำนึกที่ต่างจากเดิม มีสติกับปัจจุบันขณะ มีสติรับรู้สิ่งที่เป็นบันไดไปสู่ธรรมะ มีสติรับรู้สิ่งที่เป็นอุปสรรคกั้นขวางธรรมะ ตรงนี้ก็สำคัญเพราะว่าถ้าเรามีความประสงค์จะไปสู่สภาวะ สุญญตา จริงๆ ตามความเข้าใจของผมนี่ มันเป็นกระบวนการที่เราแยกไม่ออกจากชีวิตที่เราใช้ เราจะต้องจัดระเบียบชีวิตเสียใหม่เพื่อให้เกื้อกูลต่อการเดินทางธรรม

ด้วยเหตุนี้หลังจากมีประสบการณ์ทางจิตวิญญาณครั้งนั้น ผมจึงเริ่มขนข้าวของมาแจกคน ผมตัดทุกอย่างเท่าที่จะตัดได้ เริ่มด้วยกำจัดความรุงรังทางวัตถุก่อน อันที่จริงดั้งเดิมผมก็ไม่ได้มีสมบัติอะไรมาก แต่มันมีของโปรดที่สนองอัตตาอยู่บ้าง เช่นมีดปืน อุปกรณ์ตกปลา วัตถุโบราณบางอย่าง กระทั่งก้อนหิน กิ่งไม้ที่เก็บสะสมมาตามรายทาง ผมเอาสิ่งเหล่านี้มาจำหน่ายจ่ายแจกจนเกือบหมดสิ้น ทิ้งเป็นขยะไปก็มี สภาวะจิตผมเปลี่ยนไปมาก ไม่ใช่เบื่อโลกหมดอาลัยตายอยาก แต่อยากปล่อยวางให้มากที่สุด

แต่ผมก็ทำได้ไม่สม่ำเสมอนะครับ ส่วนที่ทำไม่ได้ก็ยังมี อย่างไรก็ตามจากนั้นมาชีวิตมันเบาขึ้นเยอะ เราไม่ห่วงไม่หวงอะไรเหมือนเดิม แล้วยังมีความรู้สึกปรารถนาดีกับคนทุกคน ผมพบว่าสมาชิกในครอบครัวนี่ แม้จะไม่ได้อยู่ร่วมกัน แต่เรายังมีความรักความเมตตาให้เขาได้ตลอดเวลา เรายังทำทุกอย่างที่เป็นการเกื้อกูลเขาได้ ไม่ใช่ในความหมายที่เป็นพันธะหน้าที่ หากเป็นเพราะเรามีใจที่หวังดีอยู่ตลอดเวลา

ในแง่นี้คงพอจะพูดได้ว่าผมได้ถอยห่างจากแนวคิดแบบ dualism แบบทวินิยมมาไกลพอสมควร เราพยายามเป็นหนึ่งเดียวกับคนที่เรารัก คนที่เรามีกรรมผูกพันกันมา จากคนดุผมกลายเป็นคนใจดี กลายเป็นคนที่ไม่ค่อยโกรธใคร พยายามเข้าใจผู้อื่นจนลูกเต้าก็ประหลาดใจกันไปหมด ผมไม่ได้โกรธใคร ไม่ทะเลาะกับใครมาเป็นเวลานานแล้ว



ฟังอย่างนี้แล้วก็คิดถึงสิ่งที่อาจารย์เคยพูดถึงการมีสันติภาพกับตัวเอง มีสันติภาพกับผู้คน กับสิ่งแวดล้อม กับโลก กับธรรมชาติ

นั่นเป็นหลักการที่ผมคิดไว้นานแล้ว แต่ผมนึกถึงวิธีการที่จะบรรลุไม่ออก จะว่าสิ่งนี้เป็นเป้าหมายของชีวิตก็ไม่เชิง มันเป็นสัมพันธภาพที่ควรจะเป็นไปในโลกมนุษย์มาตั้งแต่ต้นและเป็นมาโดยตลอด แต่ที่แล้วมามนุษย์เรากลับทะเลาะกับตัวเอง ทะเลาะกับผู้อื่น และทะเลาะกับธรรมชาติอีกต่างหาก



มีข้อความหนึ่งซึ่งผมประทับใจมากคือ ชีวิต โดยตัวมันเองก็ว่าศักดิ์สิทธิ์แล้ว ฉะนั้นเมื่อเราตระหนักถึงความศักดิ์สิทธิ์ เราก็ไม่เอาชีวิตไปเกลือกกลั้วกับสิ่งเลวทราม กระทั่งไปทำให้คนอื่นแปดเปื้อน ธรรมชาติแปดเปื้อนมันก็ยิ่งไม่ แต่กว่าเราจะมีหัวใจที่คิด-เข้าใจอย่างนี้ได้ ผมรู้สึกว่าอาจารย์ผ่านอะไรมาเยอะแยะมาก กว่าจะผ่านความทุกข์มาได้ อย่างพวกผมซึ่งไม่ได้ผ่านความทุกข์โศกมากอย่างนี้ เราจะก้าวไปถึงหัวใจอย่างนั้นได้อย่างไร

ทั้งหมดนี้มันเป็นวิถีเฉพาะตัวของผม หมายความว่ามันเป็นเส้นทางที่ถูกกำหนดมาตั้งแต่ต้นโดยกรรมดั้งเดิมของผม ซึ่งอาจจะเป็นต้นแบบให้คนอื่นไม่ได้ และไม่จำเป็นด้วย ผมคิดว่าบางคนอาจจะโชคดีกว่าผมเยอะเพราะใช้เวลาน้อยกว่าในการค้นพบธรรมะ อย่างในเวลานี้มีหนังสือธรรมะที่เขียนโดยคนที่อายุน้อยกว่าผมเยอะแยะ เขาเข้าใจมันลึกซึ้งกว่าผมเพราะเขาอาจจะมีบุญเก่าช่วยส่งเสริม ผมเป็นคนมีบาปมีกรรมติดตัว จึงต้องใช้เวลานาน เลี้ยวไปหลายทิศหลายทาง โชคดีอยู่บ้างตรงที่มีธรรมะบางข้อที่ผมยึดถือมาตลอดตั้งแต่จำความได้ อันนั้นอาจจะเป็นบันไดส่งให้ผมมาพบส่วนที่เหลือในที่สุด

เรื่องนี้ถ้าตอบแบบปลอบใจ ก็คงต้องบอกว่ามันไม่จำเป็นที่ผู้อื่นจะต้องมาผ่านทุกข์ในระดับเดียวกัน แต่ถ้าบังเอิญใครกำลังมีทุกข์อยู่ขณะนี้ ผมก็ขอบอกว่าทุกข์นั้น ไม่จำเป็นต้องจบลงด้วยความพ่ายแพ้และทิ้งให้คุณจมดิ่งลงไปในความมืด มันอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของแสงสว่างก็ได้ อาจเป็นจุดเลี้ยวกลับที่พาคุณมาเข้าใจชีวิตก็ได้ เพราะบ่อยครั้ง สิ่งที่ดูเหมือนเลวร้ายในชีวิตคุณ แท้จริงกลับเป็นบทเรียนที่ฟ้าดินมอบให้

พอมองอย่างนี้ ชีวิตจะเบาขึ้นเยอะนะ เรามีแต่เติบโตและเติบโตไปเรื่อยๆ ทุกอย่างเป็นครูเราได้หมด ทุกอย่างที่มากระทบเรานี่ถ้าเราทำจิตให้ว่างเสีย มันก็ผ่านไป เหมือนที่ท่าน Sogyal Rinpoche เขียนว่า “จิตเดิมของเราเหมือนเวิ้งฟ้า” เมฆผ่านมาแล้วผ่านไป แต่ฟ้าก็ยังนิ่งใสเหมือนเดิม ถ้าฝึกไปในแนวนี้เราจะค่อยๆ เข้าใจมากขึ้น แต่ทั้งหมดคงแยกไม่ออกจากการมีวิถีชีวิตที่สมถะ สันโดษและสำรวม ถ้าเรายังโลดแล่นอยู่ในลาภ ยศ สรรเสริญ ความสงบนิ่งมันเกิดยาก ไม่ใช่เป็นไปไม่ได้ แต่ยากขึ้นหลายเท่า



ยิ่งฟังยิ่งเห็นชัดเลย เหมือน ผ่านพบไม่ผูกพัน เป็นการเดินทวนกระแสหลักที่รวดเร็วด่วนได้ เดินไปช้าๆ แต่ก็ละเอียดละออในทุกสิ่งทุกอย่าง และถ้าเราลองเชื่อมไปถึงโครงสร้างสังคม มันไม่มีจุดสมดุลหรือจุดลงตัวเลยหรือ ที่โครงสร้างสังคมควรเอื้อต่อความสมถะ สันโดษ

เฉพาะหน้า กระแสของวัตถุนิยมมันมาแรง กระแสของการติดหลงอยู่ในโลกมายามันมาแรง ฉะนั้นเราจึงยังมีกรรมรวมหมู่ที่คอยขับเคลื่อนสังคมไปสู่ความทุกข์อีกสักพักหนึ่ง หมายความว่าการสร้างจุดสมดุลทางสังคมหรือหาโครงสร้างสังคมมาเอื้ออำนวยต่อความสมดุลของชีวิตจึงยังทำได้ยาก อย่างไรก็ตาม สำหรับปัจเจกบุคคลแล้ว ผมคิดว่าไม่จำเป็นต้องรอ จากประสบการณ์ของผม คิดว่าไม่ต้องรอให้สังคมเปลี่ยนก่อน เราถึงจะพบกับความสงบสุข และปีติกับการมีชีวิต ทั้งนี้เพราะความสุขเป็นเรื่องข้างในมากกว่าข้างนอก ถ้าเรามาฝึกปลดแอกจากตัวเอง ขับไล่อัตตาออกไปก็จะเปิดพื้นที่ให้มีความสุขได้ทันที

ผมพูดอย่างนี้เหมือนกับว่าลอกเลียนครูบาอาจารย์ แต่จริงๆ ท่านก็สอนไว้ถูก คุณต้องฝึกที่จะปล่อยวางตัวตน แม้ชั่วคราวก็ยังดี เพื่อจะได้ลิ้มรสชาติได้รู้ชัดว่าความสุขจากภายในมีจริง คุณต้องฝึกตายก่อนตาย คือเลิกยึดถือเสียทีว่าคุณเป็นใคร เลิกบอกตัวเองเสียทีว่า เราเป็นคนนั้นคนนี้ มีความเจ็บปวดเรื่องนี้ มีความดีใจเรื่องนั้น มีความภูมิใจเรื่องโน้น เพราะมันล่ามร้อยไม่สิ้นสุด ผมเองที่พูดมาเรื่องบาดแผล ความเจ็บปวด ฟังดูแล้วก็เหมือนมีแต่ด้านที่มืดมนล้มเหลว อันที่จริงถ้าพูดถึงความสำเร็จทางโลกผมไม่ได้น้อยหน้าใคร แต่ทั้งหมดนี้ผมพยายามก้าวข้ามหมดเลย เอาออกไปหมด ให้มันมีความหมายน้อยที่สุด ส่งผลน้อยที่สุดต่อปัจจุบันขณะของผม ไม่ว่าจะเป็นความล้มเหลวในการปฏิวัติ ความล้มเหลวในชีวิตส่วนตัว หรือชัยชนะเมื่อ ๑๔ ตุลาคม ตำแหน่งคณบดีคณะรัฐศาสตร์ ปริญญาเอกจากคอร์เนลล์ ฐานะนักเขียนรางวัลศรีบูรพา ฯลฯ ผมเอาออกหมดเลย ไม่ว่าจะบวกหรือลบ เพราะมันเป็นมายาทั้งสองด้าน ถ้าไม่ยกออกเราก็เดินต่อไปไม่ได้ เอาออกในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าลืม แต่อย่าให้มันเป็นสิ่งยึดติด อย่าให้เป็นเครื่องผูกพัน อย่าให้เป็นกำแพงกั้น ในการที่เราจะเดินต่อไป สู่ความสงบสันติในใจของเรา ในฐานะปัจเจกบุคคลผมมีบทเรียนอย่างนี้ ซึ่งผมเชื่อว่าคนอื่นก็คงทำได้เช่นกัน ถ้าตัดสินใจจะเดินทางนี้จริงๆ



ล่าสุดอาจารย์เขียนถึงลูกชายคนเล็กและพูดถึงประเทศทางตะวันออกของเราที่มีภูมิปัญญา วัฒนธรรมที่ลึกซึ้งและเยอะมาก โดยเฉพาะศาสนธรรม ตรงนี้อาจารย์ขยายหน่อยได้ไหมครับว่า ในฐานะปัจเจกชนโดยเฉพาะคนหนุ่มสาวนี่ ถ้าจะหันมาศึกษาเรื่องนี้ เขาควรจะเริ่มศึกษาแบบไหนลงไปปฏิบัติเลยหรือค้นคว้าหลักคิดทฤษฎี

ทุกวันนี้ผมคิดว่าเรามีโชคเหลืออยู่อย่างหนึ่ง คือท่ามกลางความเสื่อมของสังคม เรายั



ฝ่ามืออัสนีบาต
#2   ฝ่ามืออัสนีบาต    [ 19-09-2009 - 17:25:38 ]

ไม่มีคำสอนหรือไม่มีผู้สอน ประเด็นอยู่ที่ว่ามันไม่มีผู้เรียนมากกว่า ทำอย่างไรจะให้มีความต้องการเรียนก่อน เมื่ออยากเรียน ภาษิตโบราณเขาบอกว่า “ทันทีที่ศิษย์อยากเรียน ครูก็ปรากฏตัว” หรือยังมีอีกประโยคหนึ่งว่า “ครูที่ยิ่งใหญ่อยู่ในตัวคุณนั่นแหละ” ปัญหาของสังคมไทยในเวลานี้ ไม่ได้อยู่ขาดครูหรือขาดคำสอนในทางธรรม หากอยู่ขาดแรงบันดาลใจที่จะเรียน

ปัจจุบันคนตะวันตกก็มีความทุกข์มากกับสังคมที่เขาสร้างขึ้นและที่เราพยายามเลียนแบบ กระแสการค้นหาทางออกที่เป็นปรมัตถ์สัจจะนับวันจึงยิ่งมีผู้เข้าร่วมมากขึ้น พวกเขาเองก็ค้นหามาทางตะวันออก หลายคนมาบวชมาเรียนอยู่ในประเทศไทยและประเทศอื่นๆในเอเชีย ความพยายามของเขาที่จะเข้าใจชีวิตในด้านจิตวิญญาณให้มากขึ้นนี่เห็นได้ชัดจากงานเขียนงานพิมพ์ที่ออกมามากมาย ผมยกตัวอย่างให้ดู ๓ คนก็ได้ คือ นีล โดแนลด์ วอลช์ (Neale Donald Walsch) ซึ่งเขียนเรื่อง Conversations with God ออกมาหลายเล่ม นับเป็นการตีความคริสต์ศาสนาใหม่หมด เท่าที่ผมอ่านมาทั้ง ๓ เล่ม โดยเฉพาะเล่ม ๑ มีอะไรใกล้เคียงกับทางตะวันออกเรามาก คนที่สอง เจมส์ เรดฟีลด์ (James Redfield) เขียนเรื่อง The Celestine Prophecy ไล่เรียงมาจนกระทั่งถึงเรื่อง The Secret of Shambhala เป็นนิยายธรรมะ ที่เน้นเรื่องพลังของจิต เน้นเรื่องชีวิตทางด้านจิตวิญญาณ คนที่สามคือ เอ็คฮาร์ท โทลเลอ (Eckhart Tolle) เขียนเรื่อง The Power of Now หรือที่แปลกันว่า “พลังจิตแห่งปัจจุบัน” คนนี้นี่แม้จะอ้างถึงทุกศาสนา แต่ผมอาจพูดได้ว่าเขาอิงอยู่กับหลักพุทธศาสนาของนิกายเซ็นมาก หนังสือของสามท่านนี้ขายได้เป็นล้านๆเล่ม เป็นตัวอย่างชี้ชัดว่าชาว ตะวันตกก็กำลังปฏิเสธลัทธิวัตถุนิยม ลัทธิบริโภคนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ และหันมาเอาจริงเอาจังในการค้นหาโลกใหม่ ซึ่งอยู่ในตัวเรานั่นเอง

ทีนี้กลับมาถึงคำถามเกี่ยวกับเยาวชน เราจะพบว่าเยาวชนไทยยุคปัจจุบันด้านหนึ่งก็เหมือนมีชีวิตเละเทะ แต่อีกด้านหนึ่งก็มีความทุกข์มาก อ่อนแอ สับสน มีอัตราการตายและการเสียผู้เสียคนสูงมาก โดยเฉพาะคนหนุ่มในประเทศไทยสถิติยืนยันว่ามีอัตราการตายสูงที่สุดในโลกจากทุกสาเหตุรวมกัน ถ้าเรามองในแง่ดีก็อาจจะหวังว่าทุกข์เหล่านี้สามารถเป็นแรงบันดาลใจที่พาเขามาหาทางดับทุกข์กัน ซึ่งถ้าวันใดเขาคิดอย่างนั้นได้ ในฐานะปัจเจกบุคคล เขาไม่ต้องเคว้งคว้างหรอก ในเมืองไทยเรามีสำนักปฏิบัติธรรมเต็มไปหมด มีพระสงฆ์องคเจ้าที่สอนเรื่องนี้มากมาย

แต่ก็อีกนั่นแหละ เราต้องเข้าใจว่าถึงที่สุดแล้วการค้นหาตัวเองทางจิตวิญญาณ มันเป็นการเดินทางโดยลำพัง ไม่มีใครทำแทนคุณได้ อาจจะมีคนเอาใจช่วย อาจจะมีสิ่งแวดล้อมที่ดีได้ แต่คุณต้องทำด้วยตัวเอง


อาจารย์ตอบคำถามหนึ่งของผมเลยคือ “อาจารย์ยังเรียกตัวเองว่าเป็นนักเดินทางผู้ว้าเหว่อยู่ไหม”

ประโยคนี้ผมเขียนเมื่อกว่ายี่สิบปีมาแล้ว ไม่อยากให้เอามาใช้อธิบายปัจจุบัน อย่างไรก็ตามในความหมายทางจิตวิญญาณนี่ ชีวิตมันเป็นการเดินทางโดยลำพังอยู่แล้ว คุณจะค้นพบธรรมะค้นพบตัวเองหรือไม่ ไม่มีใครมาทำแทนคุณได้ อย่างที่พระพุทธเจ้าท่านทรงสอนไว้ในคาถาธรรมบทว่าความบริสุทธิ์และไม่บริสุทธิ์เป็นของเฉพาะตัว คนอื่นจะชำระคนอื่นให้บริสุทธิ์หาได้ไม่

แต่เรื่องนี้ไม่จำเป็นต้องทำให้รู้สึกว้าเหว่ เมื่อเดินทางธรรมความว้าเหว่มันจะค่อยๆหายไปเอง ความเหงาอ้างว้างมันผูกติดอยู่กับอัตตา ถ้าสลายอัตตาได้ก็ไม่มีอะไรไปรู้สึกว้าเหว่อีก


ที่บอกว่าชีวิตตัวเองลดเลี้ยวเคี้ยวคดมาอย่างไรก็ตาม แต่สังเกตว่าสิ่งหนึ่งที่อาจารย์มีมาตลอดคือวัตรปฏิบัติประจำตัว ความมีวินัยในชีวิต สิ่งเหล่านี้ อาจารย์คิดว่ามันมีส่วนที่จะมาหล่อหลอมให้อาจารย์มาเข้าใจ ให้เกิดปัญญา ให้เกิดวิชาในจุดนี้อย่างไร

พูดถึงวินัยในการใช้ชีวิตนี่มันมีปมเงื่อนอยู่ประเด็นเดียว คือคุมตัวเองได้ไหม เอาชนะตัวเองได้ไหม เอาชนะตัวเองหมายความว่า ไม่ปล่อยให้ตัวเองกระทำสิ่งต่างๆ ตามอารมณ์ ตามอำเภอใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างกินนอน หรือเรื่องใหญ่อย่างการทำงาน และการต่อสู้ทางสังคม

ผมเองเผอิญมีโชคตรงนี้ คือได้ฝึกคุมตัวเองมาบ้าง มันอาจจะเป็นส่วนหนึ่งของการอยู่กับพระมาตั้งแต่เล็ก เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตนักรบปฏิวัติ หรือเป็นส่วนหนึ่งของการมอบตัวให้อุดมคติต่างๆ ที่มากกว่าความพอใจส่วนตัว ผมเชื่อว่าถ้าเราปล่อยชีวิตให้เป็นไปตามความอยากของร่างกายและของอารมณ์ล้วนๆ ในที่สุด เราก็จะกลายเป็นคนอ่อนแอ ซึ่งเป็นอุปสรรคในการเดินทางธรรม เพราะการเดินทางธรรมนี่ถึงขั้นสุดท้ายจะต้องประหารอัตตาของตัวเองให้ได้ ตรงนั้นต้องการความเข้มแข็งมาก ต้องการพลังมาก ไม่เช่นนั้นจะก้าวไม่พ้น คนอ่อนแอจะปล่อยวางชื่อเสียง ปล่อยวางทรัพย์สิน ปล่อยวางบาดแผลและเลิกโทษคนอื่นได้อย่างไร ถ้าคุณอยากจะก้าวให้พ้นอุปาทานแห่งชีวิต ก้าวไปสู่การเข้าใจตัวเองขั้นสูงแล้ว มันจำเป็นต้องอาศัยความเข้มแข็ง อาศัยระเบียบวินัย อาศัยการฝึกจิตใจตัวเองอยู่พอสมควร

ที่ทางพระท่านสอนให้ถือศีลนี่ ก็ไม่ใช่อะไรอื่นหรอก มันคือประเด็นนี้แหละ ถือศีลคือฝึกควบคุมจิตของตนเอง ฝึกวินัยเพื่อให้ตัวเองเกิดพลัง ศีลของพระนี่ไปไกล ๒๐๐ กว่าข้อ ส่วนใหญ่ล้วนไม่ให้ตามใจร่างกายเนื้อหนัง ไม่ให้ใช้ชีวิตตามอารมณ์ ส่วนฆราวาสถือศีล ๕ เราก็จะเห็นว่าควบคุม โลภ โกรธ หลง อยู่ในนั้นหมด ท่านให้ฝึก ให้ปล่อยวางเสีย สิ่งเหล่านี้ ตามความเข้าใจของผมเห็นว่ามันเป็นหลักสำคัญ ถ้าไม่มีศีล ก็ไม่ทราบจะมีสมาธิ มีปัญญาได้อย่างไร

บางคนอาจจะบอกว่า”เราเข้าใจแล้วในทางความคิด เรารู้แล้วธรรมะเป็นอย่างไร นิพพานเป็นอย่างไร” แต่ความเข้าใจทางความคิด ทางปัญญามันไม่ได้หมายความว่าคุณปฏิบัติได้นะ ตราบใดที่คุณยังโกรธคน หรือว่ายังโลภมาก ยังลุ่มหลงในอะไรต่างๆ ความเข้าใจเหล่านั้นมันก็เป็นแค่เรื่องวิชาการเท่านั้นเอง ความจริงเรื่องวินัยไม่ใช่มีอยู่เฉพาะในพระพุทธศาสนา ทุกศาสนาเขาก็สอน ในศาสนาฮินดูตามหลักโยคะศาสตร์นี่ ไม่ใช่อยู่ๆ คุณไปดัดแข้งดัดขา แล้วก็บอกว่าเล่นโยคะ เขามีศีลมากมายหลายข้อให้ถือเหมือนกัน ต้องปฏิบัติ ยมะ นิยมะ อะไรต่างๆเพื่อรักษาพรหมจรรย์ ไม่งั้นมันก็ไม่ต่างอะไรจากการออกกำลังกายธรรมดา สรุปเรื่องศีลจึงเป็นพื้นฐานสำคัญของการเดินทางธรรม และผมคิดว่าวินัยกับศีลเป็นเรื่องเดียวกัน

ปัญหาก็คือว่าในเวลานี้ สังคมเรามักเย้ยหยันการถือศีลมีวินัย แล้วชอบยุให้คนตามใจตัวเอง กินอยู่ตามใจชอบโดยไม่นึกถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้น ชีวิตที่เรื่อยเปื่อยตามอารมณ์แบบนี้ถูกโฆษณาว่าเป็นเรื่องดี นานวันยิ่งทำให้คนอ่อนแอไม่สามารถบังคับใจตัวเองได้ ยิ่งไปกว่านั้นเราจะพบว่าคนอ่อนแอมักจะลื่นไถลไปสู่การเบียดเบียนผู้อื่น ทำร้ายผู้อื่นเพราะคุมตัวเองไม่อยู่ เราดูข่าวพาดหัวหนังสือพิมพ์ได้ทุกวัน จะพบว่ามันเต็มไปด้วยเรื่องราวที่คนในสังคมไทยบังคับใจตัวเองไม่ได้ อย่าพูดเรื่องนิพพานเลย เอาแค่ไม่เบียดเบียนคนอื่นก็ทำไม่ได้



กลับมาสู่การเขียนหนังสือ ผ่านพบไม่ผูกพัน เล่มนี้ เวลาอ่าน อ่านซ้ำหลายรอบมากตั้งแต่ซื้อมา บางทีตอนนอนอ่านดู มันเหมือนไม่ได้อะไรเลย แต่มันเหมือนฟังเพลงบรรเลง เพลินไป แต่ถ้าหยุดคิดปุ๊บ อยากจับประเด็น มันก็จะได้ทันที ตรงไหนก็ได้ ผมรู้สึกว่า อย่างนี้มันถึงขั้นแบบมูซาชิ ที่เป็นหนึ่งเดียวกับดาบ ในศิลปะของการเขียน อาจารย์ประเมินตัวเองมั้ยครับว่ามาถึงจุดสมบูรณ์สูงสุดแล้วหรือยัง
ผมไม่คิดว่างานชิ้นนี้เป็นความสมบูรณ์สูงสุดแล้ว พูดได้เพียงว่าผมเขียนมันจากความรู้สึกนึกคิดของตัวเองอย่างจริงใจที่สุด เป็นงานเขียนที่มาจากการสรุปประสบการณ์ชีวิต แต่คุณต้องเข้าใจด้วยว่าผมไม่ได้มีแค่ประสบการณ์เรื่องบาดแผลและการต่อสู้เท่านั้น หากยังมีประสบการณ์ที่ใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติมาก อยู่กับทะเล อยู่กับป่าเขา ซึ่งชีวิตเหล่านั้นก็มีส่วนกล่อมเกลาผมมา บวกรวมแล้วก็คือว่า งานเขียนชุด ผ่านพบไม่ผูกพัน นี่เป็นสิ่งที่กลั่นมาจากชีวิตจริง เป็นการค้นหาข้อสรุปทางจิตวิญญาณของมัน ประสบการณ์ชีวิตเป็นสิ่งที่มีหลายมิติ ประสบการณ์หนึ่งอาจให้ได้ทั้งข้อสรุปทางเทคนิค ข้อสรุปทางสังคม และข้อสรุปทางจิตวิญญาณ แต่คนทั่วไปบางทีทำอะไรมักไม่ค่อยมีข้อสรุปทางจิตวิญญาณ ส่วนใหญ่จะสรุปเป็นบทเรียนในทางปฏิบัติ

สำหรับเรื่องความดีไม่ดีในทางวรรณศิลป์ หรือคุณค่าทางศิลปะของเนื้องาน ผมคิดว่าให้ผู้อ่านเป็นคนประเมิน จะถูกต้องกว่า ผมเองในฐานะคนสร้างงาน ก็ได้แต่พยายามทำให้ดีขึ้นเรื่อยๆ เท่านั้นเอง
จุดที่อาจารย์รู้สึกว่าเริ่มมองพ้นความเป็นทวิภาวะได้ สะท้อนอยู่ในงานเรื่อง คนกับเสือหรือเปล่า เพราะเห็นในหน้าสุดท้ายที่เป็นฉากการเผชิญหน้ากันระหว่างคนกับเสือ ผู้ล่าผู้ถูกล่า ในที่สุดแล้วก็ประจักษ์ว่าคนก็คือเสือ เสือก็คือคน จุดตรงนั้นทำให้กระโดดมาสู่ภาวะที่ข้ามพ้นการแบ่งแยกหรือเปล่า

เรื่อง คนกับเสือ นี้โจทย์มันแรง ด้านหนึ่งสะท้อนความปรารถนาที่จะก้าวให้พ้นทวิภาวะ หรือปรารถนาที่จะเข้าสู่วิถีธรรมซึ่งมีเสือเป็นต้นแบบ ส่วนในอีกด้านหนึ่งสะท้อนพันธะที่คนเรามีต่อโลกอันเต็มไปด้วยความขัดแย้ง ในที่สุดกลายเป็นสถานการณ์ที่ถูกบังคับให้เลือก ระหว่างสองสิ่งที่คุณปฏิเสธไม่ได้ สิ่งหนึ่งก็คือความเป็นตัวคุณเองในทางจิตวิญญาณ อีกสิ่งหนึ่งคือพันธะที่คุณมีต่อผู้อื่น ด้วยเหตุนี้ คนกับเสือ จึงเป็นโศกนาฏกรรมตรงที่ไม่ว่าเลือกทางไหน คุณจะต้องเจ็บปวดอยู่ดี คุณจะไม่ได้ทุกอย่าง เพราะฉะนั้นผมจึงจบแบบคลุมเครือ ให้ผู้อ่านไปคิดเอาเองว่าคุณจะเลือกอะไร เป็นคำถาม

หลังจากนั้นมา ผมคิดว่าคำตอบเริ่มชัดขึ้นใน วิหารที่ว่างเปล่า เมื่อผมเริ่มพูดถึงข้อสรุปทางด้านจิตวิญญาณบ้าง แต่ถ้าพูดถึงการก้าวพ้นทวิภาวะจริงๆ ก็อาจจะต้องเล่มนี้แหละ ใน ผ่านพบไม่ผูกพัน จะมีคำว่า “เป็นหนึ่งเดียว” มากหน่อย อันนี้เป็นภาษาเซ็น ซึ่งตอนเขียนผมไม่รู้หรอก อย่างสมมุติว่าผมพูดถึงแสงสว่าง แทนที่เราจะเอาแสงสว่างไปส่องอะไร ผมกลับบอกว่าจง“เป็นหนึ่งเดียวกับเสี้ยวแสง” อันนี้เป็นการก้าวพ้นทวิภาวะ เพราะตราบใดที่เรายังเป็นผู้ชูคบเพลิง หรือเป็นผู้นำพาแสงสว่างไปส่องสิ่งนั้นสิ่งนี้ มันก็ยังมีอัตตาไปประกบกับสรรพสิ่งอยู่ดี ซึ่งจะว่าไปความคิดที่ว่าเราเป็นผู้ชูคบเพลิงมันเป็นความคิดสมัยผมเป็นผู้นำนัก ศึกษา และก็ติดตัวมานาน เป็นความคิดแบบ heroism คืออยากประกอบวีรกรรมแต่ในนั้นก็มีตัวตนอยู่ ถึงจะเชื่อว่าชีวิตของวีรบุรุษเป็นชีวิตที่สูงส่ง ก็ยังเป็นเรื่องของ self esteem ตรงกันข้ามกับตอนนี้ ซึ่งผมไม่คิดว่าผมจะต้องเป็นคนชูคบเพลิง ไม่คิดว่าผมจะต้องเป็นอะไรเลย

เคยมีคนเขียนวิจารณ์หนังสือเล่มนี้เป็นทำนองเย้ยหยันและตั้งแง่ว่าผมจะมาทางธรรมจริงหรือเปล่า ผมก็ได้แต่ปลงเพราะไม่รู้จะไปตามอธิบายอย่างไร ผมเขียนจากใจจริงที่สุดแล้ว แต่ละชิ้น ผมจะเริ่มด้วยการคิดถึงประเด็นก่อน แล้วจะเขียนไม่ออกอยู่พักหนึ่ง แต่วันไหนรู้สึกเขียนได้ ข้างในมันจะบอกว่าวันนี้พร้อมแล้ว จากนั้นผมก็จะพิมพ์รวดเดียวจบเลย เป็นอย่างนี้ทุกชิ้น เป็นเวลาหนึ่งปี เดือนละชิ้นๆ ถ้าวันไหนผมรู้สึกพร้อมถึงจะเขียน มันจะพรั่งพรูออกมารวดเดียว บางชิ้นอาจมีขัดเกลานิดหน่อย แต่โดยพื้นฐานแล้วมันเป็นการเขียนจากข้างใน



ตอนอ่านก็สัมผัสได้ เหมือนได้มานั่งฟังผู้หลักผู้ใหญ่คนหนึ่ง หรือผู้เฒ่าที่ผ่านอะไรมามากจนตกผลึก มานั่งคุยเรื่องราวต่างๆ ให้ฟังอย่างถึงแก่น รู้สึกอย่างนั้นจริงๆ บางทีเหมือนได้รับการปลอบโยน อย่างตอนเป็นนักศึกษา ตอนที่สู้เรื่องเชียร์ รุ่นพี่เค้าทำร้ายก็ได้หนังสือมหาวิทยาลัยชีวิตเป็นเครื่องปลอบโยน พอมาถึงวัยนี้ ผ่านพบไม่ผูกพัน มันก็เป็นเหมือนไกด์ทางจิตวิญญาณ เหมือนได้นั่งฟังผู้หลักผู้ใหญ่ที่เราเคารพมาคุยให้ฟังด้วยความมีเมตตา

ผมถือมากเรื่องการเขียนหนังสือว่าจะต้องมีความสุจริตจริงใจ ไม่เสแสร้งเป็นในสิ่งที่เราไม่ใช่ ไม่เสแสร้งพูดในสิ่งที่เราไม่เชื่อ เพราะฉะนั้นถ้าคุณกลับไปอ่านงานเขียนของผมตั้งแต่ผมอายุน้อยๆ มาจนถึงวันนี้ ก็จะพบว่างานเขียนมันโตตามผมมาเรื่อยๆ เคยคิดได้แค่ไหน มันก็จะออกมาอย่างนั้น จนกระทั่งถึงวันนี้อายุห้าสิบกว่า จึงเป็นเล่มที่คุณถืออยู่ ผมก็หวังว่าการเติบโตยังคงดำเนินต่อไป

ผมไม่เคยเสแสร้งและคิดว่าใครก็ตามที่เสแสร้งในการเขียน ผู้อ่านก็รู้ ผู้อ่านก็สัมผัสได้ว่าคุณไม่ใช่ และคุณไม่เชื่อในสิ่งที่คุณเขียน เขาจับได้



ตำราโบราณที่อาจารย์พูดในถึงคนกับเสือที่อ้างถึงความรักคือเล่มไหนครับ

มันเป็นสำนวนในการเขียน ไม่ได้มาจากเล่มไหนเป็นพิเศษ แต่ตำราโบราณที่ตอนนี้สนใจอ่านมีอยู่ ๓ อย่าง คือ หนึ่ง พระพุทธศาสนานิกายวัชรยานของทางทิเบต สอง นิกายเซ็นของทางจีน ญี่ปุ่น สามคือโยคะศาสตร์ ของฮินดูซึ่งไม่ใช่แค่เป็นท่าดัดตนนะ เน้นไปทางปรัชญามากกว่า ตั้งแต่ภควัคคีตามาจนถึงปตัญชลี ผมมีตำราทั้ง ๓ สายนี้เต็มไปหมด บางทีนั่งอ่านเช้าจนเย็น บางทีนั่งอ่านไปจนดึกดื่น ว่างจากสอนรัฐศาสตร์ผมก็จะอ่านตำราทางจิตวิญญาณเหล่านี้ แต่ว่ามันเสียอยู่เรื่องหนึ่ง คือทำให้ผมเบื่อรัฐศาสตร์มากขึ้น ผมรู้สึกว่าการสอนการเมืองล้วนๆ แทบจะเป็นอวิชชาอยู่แล้ว



แล้วได้มีส่วนเชื่อมโยงกับวิชาที่สอนไหมครับ คือได้เอาธรรมไปแทรกบ้างไหม

เวลาบรรยายผมมักจะบวกธรรมะเข้าไปด้วย แต่เวลาออกข้อสอบมันทำไม่ได้ เพราะมันอยู่นอกสาขาที่เขาสมมุติกันขึ้นมา อันที่จริงเราแยกส่วนปัญญามนุษย์แบบนี้ไม่ดี มันอันตราย ทำให้เข้าใจโลกเข้าใจชีวิตไม่ครบถ้วน ผมเพิ่งแกล้งพูดทีเล่นทีจริงกับผู้คนเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาว่าไม่ต้องปฏิรูปการศึกษาหรอก…ประเทศไทยจะดีขึ้นมากเลย ถ้าเราแค่ยกระบบการศึกษาออกจากสังคมไทย ทำแค่นั้นผู้คนก็จะมีจิตที่สว่างไสว ไม่ถูกบิดเบือน เพราะว่าที่ผ่านมาส่วนใหญ่เราสอนอวิชชาทั้งนั้น เราไม่ได้สอนสิ่งที่เป็นสัจจะ แล้วหลายวิชาที่เราสอนมักเป็นศาสตร์แห่งการครอบงำ ทำอย่างไรจะหลอกคนมาซื้อของให้ได้มากที่สุด ทำอย่างไรจะเอาแรงงานคนอื่นมาใช้ในราคาถูกที่สุด ทำอย่างไรจะขึ้นไปกุมอำนาจเหนือมนุษย์คนอื่นๆได้ ศาสตร์เหล่านี้มันเป็นอวิชชาตรงที่แยกออกจากหลักธรรม วิชาพอแยกออกจากความดีงามของการเป็นมนุษย์ก็จะกลายเป็นอวิชชาหมด ตรงนี้เราอาจจะไม่ตระหนักว่าทำอะไรกับสังคมของตนเองบ้างใน ๔๐–๕๐ ปีที่ผ่านมา



เมื่อคราวที่ป๋วยเสวนาคาร เชิญอาจารย์ไปพูดเรื่อง “วิหารงดงาม” ยังจำได้ว่าตอนหนึ่งอาจารย์เอ่ยถึง “อวิชชา” ว่ามันเป็นสภาวะที่ทำให้คนเราตกอยู่ในฐานะที่ไม่อาจรู้อะไรเป็นอะไรได้จริงๆ

ผมชอบที่พระพุทธเจ้าท่านสอน ท่านไม่ค่อยตำหนิเรื่องดีชั่ว แต่ท่านบอกว่าเหตุมันมาจากอวิชชา อันนี้อธิบายได้หมดเลย แปลตรงตัวก็คือปัญหามันมาจากความไม่รู้ และความไม่รู้ย่อมนำไปสู่การเบียดเบียน สร้างทุกข์ร้อนให้กับตัวเองเป็นอันดับแรกแล้วพาคนอื่นเดือดร้อนไปด้วย มันเป็นเช่นนี้มานาน เหมือนที่ท่านจีซัส ไครสต์ได้กล่าวไว้ตอนถูกตรึงกางเขนว่า “ขอพระผู้เป็นเจ้าให้อภัยพวกเขาด้วย พวกเขาไม่รู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่” ฉะนั้นคอนเซ็ปเรื่องเรื่องอวิชชานั้นผมเห็นว่าจี้ตรงจุดที่สุด คือมันเป็นต้นเหตุแห่งทุกข์ ทีนี้ทำอย่างไรจะให้ผู้คนรู้ว่าเขาไม่รู้ นั่นก็เป็นคำท้าของยุคสมัยที่สำคัญมาก ผมไม่อยากจะโทษใคร เพราะเราเองกว่าจะรู้อะไรบ้าง ก็ต้องผ่านความยากลำบากมามากมาย เลยไม่อยากไปตัดสินใครทุกวันนี้ เขาอาจจะเหมือนเราในขั้นตอนเก่าๆ ก็ได้ กว่าจะมีวันนี้ผมก็ทำบาปมามาก



นี่เป็นคำถามฝากมา คือคนรักเขาฝากถามว่าอยากให้อาจารย์พูดถึงเรื่องความรักน่ะครับ

ความรักที่ขยายมาจากอัตตา ที่มีอยู่ทั่วไปในสังคมไม่ว่าระหว่างชายหญิง ระหว่างพ่อแม่กับลูก ระหว่างพี่น้องเพื่อนฝูงหรือระหว่างใครก็ตาม มันเต็มไปด้วยเงื่อนไขผูกมัด แต่ละฝ่ายจะต้องตอบสนองความคาดหวังของกันและกันอยู่ตลอดเวลา ซึ่งถ้าแลกเปลี่ยนลงตัวก็อาจจะพออยู่กันได้ แต่ถ้าเสียสมดุลเมื่อไรก็อาจแตกร้าวสิ้นสุดโดยง่าย ความรักแบบนี้นอกจากไม่ยั่งยืนแล้วยังเป็นบ่อเกิดแห่งทุกข์ โดยเฉพาะความรักระหว่างชายหญิงนี่ ตราบใดที่มันยังล้อมรอบอัตตาแล้วมุ่งเอาอีกฝ่ายหนึ่งมาสนองความพอใจ มันจะเต็มไปด้วยความทุกข์ เพราะทั้งคู่จะแข่งกันดูดซับพลังของอีกฝ่ายหนึ่งจนถึงจุดทนไม่ไหว รู้สึกถูกจับเป็นตัวประกันทางอารมณ์ สูญเสียอิสรภาพ และต้องเสียค่าไถ่ถอนตัวเองอย่างไม่รู้จบ สุดท้ายมันจึงลงเอยด้วยการแตกแยกกระทั่งแตกหักอย่างรุนแรง

ดังนั้นผมจึงเห็นว่าความรักที่เป็นปรารถนาทางอารมณ์ล้วนๆอาจจะไม่พอเพียงที่จะทำให้มันเปี่ยมสุขและยั่งยืน มันอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นในการนำคนสองคนมาพบกันได้ แต่ก็มีความสับสนอยู่ตลอดเวลาระหว่างความรักคนอื่นกับรักตัวเอง ถ้าจะให้ยกระดับเป็นรักแท้ และพยายามหลีกเลี่ยงสภาวะแบบสองศูนย์อำนาจ ก็คงต้องแปรเป็นความรักทางจิตวิญญาณหรือกึ่งจิตวิญญาณให้ได้ ก่อนที่จะสายเกินไป

ความรักทางจิตวิญญาณหมายถึงความรักที่เลิกยึดถือตัวเองเป็นศูนย์กลาง แต่ถือคนที่เรารักเป็นตัวตั้ง โดยเราไม่มีข้อเรียกร้อง ไม่มีความต้องการจะใช้อีกฝ่ายหนึ่งเป็นวัตถุรองรับความรัก เราเป็นหนึ่งเดียวกับเขาในแง่นี้ เราไม่แยกตัวเป็นความปรารถนาอีกชุดหนึ่งจากภายนอก หากอนุญาตให้ความรักแผ่รังสีมาจากความสงบในใจเรา เป็นความรักที่มาจากความปรารถนาดี เมตตากรุณา โดยปราศจากเงื่อนไข ความรักในขั้นจิตวิญญาณนี้เป็นสิ่งที่ต้องเพียรพยายามปฏิบัติ จึงจะเข้าใจและเกิดผล มันเป็นส่วนหนึ่งของการเดินทางธรรมซึ่งแม้ทำไม่ได้ถึงที่สุด มีสติไว้บ้างก็ยังดีกว่าไม่ยอมหันหน้ามาทิศนี้เลย



ถามเรื่องความรักไปแล้ว อยากถามเรื่องอุดมคติบ้าง ที่อาจารย์เคยพูดสรุปเอาไว้ว่า “เป้าหมายไม่จำเป็นต้องมี แค่เพียงวิถีก็พอ” แต่สำหรับคนวัยหนุ่มวัยสาวแล้ว อาจารย์คิดว่าในการดำเนินชีวิตพวกเขาจำเป็นต้องมีอุดมคติ มีเป้าหมายในชีวิตหรือไม่ อย่างน้อยเพื่อนำพาให้ชีวิตไปได้ตลอดรอดฝั่ง

ถ้ามองอุดมคติเป็นขั้นตอนของการก้าวให้พ้นจากการใช้ชีวิตตามอารมณ์หรือตามสัญชาติญานขั้นต่ำนี่ อุดมคติก็นับว่ามีประโยชน์ในการยกระดับตัวตนของเราขึ้นมา แต่เราต้องตระหนักว่ามันเป็นดาบสอง คม ถ้าเราไปยึดติดตรงนั้น โดยไม่เข้าใจว่ามันเป็นเพียงทางผ่าน วันหนึ่งเราก็จะอาศัยอุดมคตินี้เป็นนามบัตรบอกคนอื่นว่าเราคือใคร หวงแหนมันเป็นอัตลักษณ์ แล้วก็เริ่มไม่ฟังใคร เริ่มไปเป็นคู่ขัดแย้งของทุกคนที่คิดไม่ตรงตามอุดมคติของเรา แบบนี้ชีวิตก็จะเป็นทุกข์เสียเปล่าๆ แล้วยังพาผู้อื่นไปทุกข์ด้วย

กล่าวในทางธรรม อุดมคติมันก็เป็นตัณหาชนิดหนึ่ง เป็นภวตัณหา ที่อยากให้โลกเป็นไปเช่นนี้ อยากให้ตัวเองเป็นไปเช่นนั้น เพียงแต่ว่าในโลกที่มันเต็มไปด้วยน้ำเน่า การฝันถึงคลองที่สะอาด ก็ไม่น่าจะผิดอะไรนัก อย่างไรก็ตาม เราอย่าไปติดกับความฝันของตัวเอง ไม่ว่าจะฝันดีแค่ไหนก็ตาม อย่าไปติดหลงอุดมคติจนมองข้ามความจริงเบื้องหน้า มองข้ามผู้คนที่มีชีวิตอยู่ตรงหน้า หรือมองข้ามเรื่องดีๆของชีวิตตนเองที่บังเกิดอยู่ตรงหน้า มันจะทำให้พลาดโอกาสสัมผัสชีวิตที่แท้จริง เหมือนกับนิพพาน ถ้าคุณตั้งเป้าไว้ว่าจะไปนิพพานให้ได้เหมือนไปสถานที่อะไรสักแห่ง ผมคิดว่าคุณกำลังพลาดเป้า บางทีคุณอาจจะพบนิพพานแล้วเดี๋ยวนี้ ตรงนี้ แต่เมื่อคุณปฏิเสธทุกอย่างก็หายไป

ท้ายที่สุดแล้ว ผมคิดว่าชีวิตที่จะให้ความสงบแก่คุณได้ คือชีวิตที่ไม่มีจุดหมายกดทับ ไม่มีอุดมคติเป็นเครื่องร้อยรัด แต่เป็นชีวิตที่มีมรรควิถี เหมือนอย่างที่เต๋าสอนไว้ แม้แต่คำว่าเต๋าก็แปลว่า “วิถี” เท่านั้นเอง ชีวิตแบบเต๋าก้าวพ้นทวิภาวะ เหมือนน้ำที่ไหลลงมาจากยอดเขา เจอก้อนหินก็เลี้ยว เจอทุ่งหญ้าก็ไหลช้าลง ไม่ติดรูปแบบตายตัว แปรรูปไปตามภูมิประเทศที่ไหลผ่าน เป็นหนึ่งเดียวกับภูเขา ท้องทุ่ง แต่ก็คงความเป็นสายน้ำ ซึ่งไหลไปเรื่อยๆไม่หยุดยั้งจนกว่าจะถึงปลายทางคือมหาสมุทร ปลายทางอย่างมหาสมุทรนี่ เราอย่าเรียกว่าเป็น “จุดหมาย”เลย เพราะมันไม่ใช่จุดหมายทางอัตวิสัย หากเป็นปลายทางของสายน้ำที่จะคืนสู่บ้านเกิดดั้งเดิมของตน

เพราะฉะนั้นผมถึงเคยเขียนว่าแต่ละก้าวที่คุณก้าวไป มันสำคัญกว่าจุดหมาย คุณเป็นหนึ่งเดียวกับก้าวนั้นหรือเปล่า ถ้าคุณเป็นหนึ่งเดียวกับก้าวนั้นวันนี้คุณพบตัวเองแล้ว แต่ละนาทีที่ผ่านไปก็ครบถ้วนแล้ว แต่ถ้าคุณขัดแย้งกับปัจจุบันขณะของคุณอยู่ตลอดเวลา ตัวทำอย่างหนึ่ง ใจอยากทำอีกอย่างหนึ่ง คุณจะมีแต่ความทุกข์ นั่นคือชีวิตของคนในโลกปัจจุบัน
อาจารย์บอกว่าไม่เคยได้มีโอกาสพบกับท่านพุทธทาสภิกขุเลย ในขณะที่คนร่วมรุ่นและแวดวงใกล้เคียงมักจะไปพบไปพูดคุยกับท่าน แต่ว่าในบทความหนึ่งของอาจารย์เอ่ยถึงท่านพุทธทาส โดยจำได้ด้วยว่าท่านเกิดวันไหน ตัวอาจารย์คงให้ความสำคัญและสนใจในรายละเอียดของท่านพุทธทาสอยู่มากพอสมควร

ผมถือท่านเป็นครูคนหนึ่ง แต่ว่าไม่มีวาสนาได้พบตัวจริง ผมอ่านงานของท่าน และคิดว่าสิ่งที่ท่านสอนสรุปรวบยอดอยู่ที่เรื่องเดียว คือที่ท่านเรียกว่า ความว่าง หรือ สุญญตา ซึ่งตรงนี้ท่านเข้าใจจริงๆ คนเราเมื่อปล่อยวางอัตตา หรือที่ท่านบอกว่ารู้จักตายก่อนตาย เมื่ออัตตาตายจิตมันก็โล่ง มีแต่ความว่าง ความสงบ ตรงนี้ถ้ากล่าวในทางธรรมถือเป็นที่สุดแล้ว

พูดอีกแบบคือท่านสอนให้คนพ้นทุกข์โดยจับประเด็นใจกลางเลย ไม่พาเลี้ยวไปไหน ผมจึงเห็นว่าท่านเป็นครูที่ยิ่งใหญ่ของสังคมไทย แล้วดูถึงความเพียรพยายามของท่าน ที่พูดเขียนเอาไว้ ภูมิปัญญาที่ทิ้งไว้ให้เรามันมากมายมหาศาลขนาดไหน รอให้คนไปอ่าน ไปค้นพบ เท่านั้นเอง ผมคิดว่าท่านเหมาะสมที่สุดที่ได้รับการยกย่องคารวะในวาระครบ ๑๐๐ ปี แต่ว่าเราเองก็ต้องเข้าใจด้วย ผมคิดว่าท่านพุทธทาสท่านเข้าใจแต่แรกแล้ว ว่าท่านเป็นแค่เงื่อนไขที่ดี ท้ายที่สุด แต่ละคนจะไปได้ถึงไหน ก็ต้องลงเรี่ยวลงแรงปฏิบัติธรรมเอง เดินทางธรรมเอง ผมคิดว่าสิ่งนี้ท่านพุทธทาสน่าจะต้องการเห็นมากกว่าการเฉลิมฉลองและพิธีกรรมต่างๆ



ที่ได้ฟังมาทั้งหมดสังเกตว่าอาจารย์เอ่ยถึงเรื่องของ “วิถี” เอาไว้มาก วิถีที่จะทำให้เข้าใจชีวิต คนรุ่นใหม่ก็คงมีวิถีของตัวเอง แต่คนรุ่นใหม่จะค้นหาวิถีของตัวเองพบด้วยวิธีไหน และจะรู้ได้อย่างไรว่านั่นเป็นวิถีที่ถูกต้อง

จะค้นพบว่าถูกต้องหรือไม่ ไม่มีใครตอบคุณได้ นอกจากคุณจะหมั่นตรวจสอบตัวเอง วิจารณ์ตัวเองอย่างจริงใจและสม่ำเสมอ ผมเชื่อว่าถ้าคุณหมั่นตรวจสอบตัวเอง รู้จักสรุปบทเรียนในชีวิตมันก็น่าจะทำให้วิถีของคุณสมบูรณ์ขึ้นเรื่อยๆ และถ้าคุณโชคดีเหมือนคนจำนวนหนึ่ง อายุไม่มากคุณก็อาจจะปล่อยวางได้หมด แต่ถ้าโชคไม่ดีอย่างผมก็ต้องรอให้แก่หน่อย เจ็บมากหน่อย ลดเลี้ยวเคี้ยวคดหน่อย จึงจะพอเข้าใจอะไรขึ้นมาบ้าง

อันนี้ก็แล้วแต่ว่าดั้งเดิมแต่ละคนสั่งสมเปลือกไว้แค่ไหน เปลือกยิ่งหนาก็ยิ่งใช้เวลานานในการกระ เทาะไปสู่แก่นแท้ เปลือกนี้ไม่ได้หมายความถึงฐานะชื่อเสียงเท่านั้น หากหมายถึงว่ามีความต้องการทางโลกแค่ไหน ลาภ ยศ สรรเสริญ ถ้าคุณติดสิ่งเหล่านี้มากก็ต้องใช้เวลาแคะออกนานหน่อย บางคนจนตายยังไม่เคยรู้จักแก่นแท้ของชีวิต บางคนมีทุนทางจิตวิญญาณมาก่อนก็อาจจะใช้เวลาน้อยกว่า



คงเหมือนกับภาษิตที่อาจารย์เคยเอ่ยถึงว่า “เมื่อหันหลังกลับไปดู จึงแลเห็นหนทาง” หมายความว่าหนทางแท้จริงนั้นก็คือแต่ละย่างเท้าที่ก้าวเดินในปัจจุบันขณะ ใช่ไหม

ใช่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางธรรมนี่ อยู่ที่สติในปัจจุบันขณะเท่านั้น



บทความนี้ นำมาจาก ปาจารยสาร (แบบเล่ม) ฉบับที่ ๒ ปีที่ ๓๑ ตุลาคม - พฤศจิกายน ๒๕๔๙
"โลกใบใหม่อยู่ในตัวเรา" วิถีธรรม วิถีทางของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล



  • 1
ตอบกระทู้
ชื่อ
รหัส กรอกตัวอักษร ตามภาพ
ข้อความ


emo-smile emo-happy emo-lol emo-enjoy emo-kiku emo-cool emo-hoho emo-drool emo-hungry emo-kiss emo-sorry emo-sad emo-cry emo-tear emo-question emo-doubt emo-shock emo-redface emo-plz emo-peevish emo-angry emo-moody emo-sneer emo-makefaces emo-good emo-touched emo-love emo-bore emo-tired emo-vomit
bold italic underline img link superscript subscript size color space justifyleft justifycenter justifyright quote box youtube