เข้าระบบอัตโนมัติ

ไทเก๊กจินเก็ง ฉบับสมบูรณ์ ของ ปรมาจารย์ จาง ซาน ฟง ( เตีย ซำ ฮง )


เด็กชายไร้นาม
#1   เด็กชายไร้นาม    [ 28-09-2009 - 12:54:15 ]

หลังจากที่ได้นำเคล็ดวิชาไทเก๊กที่ผ่านการดัดแปลงแล้วมาลงให้ได้นำไปฝึกกันดูบ้างแล้ว วันนี้จะขอนำฉบับสมบูรณ์มาลงให้ได้ฝึกกันนะครับ

บทนำ
ใครที่เคยอ่านหนังสือมังกรหยกหรือเคยดูหนังจีนเรื่องมังกรหยกก็คงจะจำกันได้ว่าเอี้ยก้วยจอมยุทธ์นกอินทรีผู้เป็นบุตรของเอี้ยคังและเป็นหลานของก๊วยเจ๋ง อึ้งย้ง นั้นในช่วงปลายของเรื่องเอี้ยก้วยได้สอนศิษย์ตัวน้อย ๆ 2 คน คนหนึ่งคือเตียซำฮงหรือจางซานฟง อีกคนหนึ่งคือก๊วยเซียงซึ่งเป็นบุตรคนเล็กของก๊วยเจ๋งกับอึ้งย้ง

ในเรื่องมังกรหยกนี้เอง ในภาคที่สามก็เป็นเรื่องราวของเตียซำฮงและเกี่ยวพันกับก๊วยเซียงด้วย โดยถือว่าเตียซำฮงเป็นตัวเอกของเรื่อง

เพราะเตียซำฮงนั้นได้กลายเป็นเจ้าสำนักบู๊ตึ๊งและเป็น 1 ใน 5 สำนักใหญ่ที่เลื่องชื่อลือชาในวิทยายุทธ์ 1 ในยอดวิทยายุทธ์ของสำนักบู๊ตึ๊งก็คือวิชามวยไทเก็ก ส่วนก๊วยเซียงนั้นได้กลายเป็นเจ้าสำนักง้อไบ๊และเป็น 1 ใน 5 สำนักใหญ่เช่นเดียวกัน

นั่นเป็นเรื่องของหนังสือมังกรหยก แต่ความจริงแล้วเตียซำฮงมีตัวตนที่แท้จริงเป็นคนในสมัยพระเจ้าซ่งฮุ่ยจงฮ่องเต้ และเป็นเจ้าสำนักบู๊ตึ๊งจริง ๆ เป็นผู้บัญญัติวิชามวยไทเก็กจริง ๆ

เตียซำฮงหรือจาง ซาน ฟง มีชื่อเดิมว่า จางเฉียนอี้ เกิดเมื่อปี ค.ศ. 1247 ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน ซึ่งเป็นมณฑลเหลียวหนิงในปัจจุบันนี้ ได้ออกบวชเป็นนักพรตในลัทธิเต๋า แล้วได้รับฉายาว่าซาน ฟง จึงเป็นที่มาของชื่อจาง ซาน ฟง หรือเตียซำฮง

เตียซำฮงในวัยเยาว์เป็นศิษย์ของกักเอี๊ยงไต้ซือแห่งสำนักวัดเส้าหลิน ซึ่งมีหลักวิชายุทธ์เฉพาะของตน และห้ามศิษย์มิให้ฝึกวิชายุทธ์ของสำนักอื่น แต่เตียซำฮงกลับลอบฝึกวิชาเก้าเอี๊ยงหรือวิชาพลังเก้ามัจจุราช จากคัมภีร์เก้าอิมจิงเก็งหรือคัมภีร์พลังเก้ามัจจุราช ที่ตกทอดมาตั้งแต่ยุคของปรมาจารย์เจ้าสำนักฉวนจินซึ่งเป็นการผิดกฎของสำนักอย่างร้ายแรง จึงถูกขับออกจากสำนักเส้าหลิน

เตียซำฮงหรือจาง ซาน ฟง ได้เริ่มเป็นที่รู้จักในหมู่ชาวบ้านธรรมดาสามัญจากการใช้กำลังภายในในการช่วยเหลือรักษาผู้เจ็บไข้ได้ป่วย ต่อมาได้ก่อตั้งและเป็นเจ้าสำนักบู๊ตึ๊ง หรือสำนักบู๊ตึงซัว ต่อมาได้คิดค้นเคล็ดวิชาอ่อนหยุ่นชนะแข็งกร้าว สงบสยบเคลื่อนไหว อันเป็นปรัชญาวิชาใหม่และกลายเป็นหลักวิชาไทเก็ก จากนั้นก็ก่อตั้งสำนักบู๊ตึ๊ง จึงได้รับการยกย่องให้เป็นปรมาจารย์แห่งยุคโดยเฉพาะวิชาไทเก็ก

ในบั้นปลายชีวิตได้รับศิษย์ 7 คน มีฉายาว่าเจ็ดผู้กล้าบู๊ตึ๊ง

นอกจากวิชามวยไทเก็กแล้ว เตียซำฮงยังได้บัญญัติหลักวิชามวยอีก 2 สายวิชา คือวิชามวยสิงอี้ ที่เลียนแบบการเคลื่อนไหวของสัตว์ เช่น เสือ วานร มังกร เหยี่ยว นกนางแอ่น เป็นต้น และวิชาฝ่ามือแปดทิศ หรือวิชาปากว้าจ่างที่ใช้การเคลื่อนไหวโดยการสืบเท้าเป็นรูปวงกลม แล้วแปรกระบวนท่าฝ่ามือเป็นท่าต่าง ๆ ซึ่งทั้งสองวิชานี้ก็ได้กลายเป็นศิลปะการต่อสู้ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของประเทศจีนที่โด่งดังและได้รับการยอมรับจากทั่วโลกด้วย





คัมภีร์หลักวิชาไทเก็กประกอบด้วยหนังสือจีน 140 ตัวอักษร แต่ละตัวมีความหมายในตัวเอง มีความสมบูรณ์ในตัวเองแต่สอดคล้องรองรับอย่างต่อเนื่องกันทั้งคัมภีร์ เวลานี้ก็มีผู้แปลออกเป็นหลายภาษา รวมทั้งภาษาไทย ซุนผู้นิรนามก็เป็นผู้หนึ่งที่ได้ถอดภาคภาษาจีนเป็นภาษาไทย ดังที่ได้นำมาเป็นหลักของหนังสือนี้

ซุนผู้นิรนามแต่มีความสูงส่งในการดำรงชีวิต มีจิตศรัทธาแก่กล้าในวิถีดำเนินแบบธรรมชาติ แม้มีการศึกษาสูงส่งแต่ทว่าได้ละสังคมอันสับสนวุ่นวายหนาแน่นเต็มไปด้วยกิเลส ลี้หลีกปลีกวิเวกเข้าสู่ธรรมชาติที่สงบสุขสันติ แต่ก็ได้สร้างผลงานอันทรงคุณค่าขึ้นชิ้นหนึ่งคือได้ผลิตผลงานแปลภาคภาษาจีนเป็นภาษาไทยให้กับ “เคล็ดวิชามวยไทเก็ก” ของปรมาจารย์เตียซำฮง หรือจาง ซาน ฟง และได้นำมาเป็นหลักในการเรียบเรียงเป็นหนังสือเรื่องนี้

วิชามวยไทเก็กเป็นวิชาที่คนจีนทั่วไปรู้จักกันแพร่หลายและแพร่ขยายไปทั่วทั้งโลก ในฐานะที่เป็นวิชาการต่อสู้อย่างหนึ่ง และเป็นหลักปฏิบัติเพื่อการทำให้มีสุขภาพอนามัยที่ดี มีอายุยืนยาวอีกอย่างหนึ่ง

ในปัจจุบันนี้ทั้งคนจีน คนไทย และคนหลายประเทศในโลกได้ฝึกวิชามวยไทเก็กกันเป็นที่แพร่หลาย ส่วนใหญ่เน้นไปในเรื่องการทำให้สุขภาพดี มีอายุยืนยาว แต่ทว่าหลักวิชามวยไทเก็กนั้นต่างก็พรรณนาว่ากล่าวกันไปตามความรู้ ความเข้าใจ ของแต่ละคน

ความจริงวิชามวยไทเก็กเป็นวิชาการต่อสู้ในเชิงรับ ถือเอาความว่างเป็นสุดยอดของสรรพสิ่งและมีอานุภาพที่หาประมาณมิได้ ไม่ว่าทางด้านจิตใจ ร่างกาย อารมณ์ความรู้สึก หรือการงานใด ๆ ก็ดี แต่น้อยนักที่จะมีผู้รู้จักความว่างและอานุภาพความว่างอย่างถ่องแท้

วิชามวยไทเก็กหาใช่เป็นแค่วิชาต่อสู้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่หากเป็นวิชาการฝึกฝนอบรมร่างกายให้มีสุขภาพอนามัยที่ดี ส่งผลให้มีอายุที่ยืนยาวอย่างน่ามหัศจรรย์ ดังที่ตัวผู้บัญญัติวิชานี้คือเตียซำฮงก็ได้รับอานิสงส์แห่งหลักวิชามวยไทเก็ก มีสุขภาพอนามัยที่ดีเยี่ยม จนกระทั่งถึงแก่กรรมโดยมีอายุขัยถึงกัลป์หนึ่ง

คนเราทุกคนแม้เกิดมาแล้วย่อมต้องตาย แต่ใครเล่าที่ไม่อยากมีอายุยืน ทุกคนล้วนอยากมีอายุยืนยาวด้วยกันทั้งสิ้น และต้องการอายุยืนยาวโดยมีสุขภาพที่สมบูรณ์ด้วย ปัญหาอยู่ตรงที่ว่าจะทำประการใด จึงจะได้ดังประสงค์เช่นนี้ หลักวิชามวยไทเก็กนี่แล้วคือวิชาหรือวิธีการหนึ่งซึ่งจะทำให้ความปรารถนาของเพื่อนมนุษย์ทั้งหลายได้บรรลุดังประสงค์

บทที่ 1 บทสรุป
• ธรรมดาของบทสรุปย่อมอยู่ข้างท้ายสุด แต่สิ่งท้ายสุดนั้นก็คือผลสรุปรวมของทั้งหมด หากกระจ่างแจ้งถึงสิ่งทั้งหมดเสียตั้งแต่ต้นก็จะง่ายและเป็นประโยชน์ต่อการทำความเข้าใจแต่ละบท และจะทำให้มอง เข้าใจ ส่วนทั้งหมด ดังนั้นในพลันที่ได้อ่านแต่ละบทก็จะรู้และเข้าใจได้ว่ามันเป็นส่วนไหนของส่วนทั้งหมด ดังนี้แล้วก็จะนับว่าเป็นประโยชน์ยิ่งนัก
• บทนำและบทสรุปก็คือด้านสองด้านของการเริ่มต้นและความเป็นที่สุดและแท้จริงแล้วก็คือสิ่งเดียวกัน
• วัตถุประสงค์หลักของการฝึกฝนเคล็ดวิชามวยไทเก็กก็คือการทำตนให้มีอายุยืนยาวและมีสุขภาพอนามัยที่สมบูรณ์ ความหมายในส่วนที่เป็นวิชาการต่อสู้ก็เพื่อการป้องกันตนเอง คุ้มครองรักษาตนเองให้รอดพ้นจากการคุกคามทำลายของผู้อื่น เป้าหมายสูงสุดก็คือการดำรงชีวิตให้ยืนยาวนั่นเอง เหตุนี้ในส่วนที่เป็นวิชาการต่อสู้ ความจริงก็เป็นส่วนหนึ่งของการดำรงตนให้มีอายุยืนยาวด้วย
• ซุนผู้นิรนามได้แปลบทสรุปของเคล็ดวิชาคัมภีร์ไทเก็กไว้ว่า
“คิดทบทวนให้ถี่ถ้วนว่า

จุดประสงค์สุดท้ายคือ

เพื่อยืดอายุให้ยืนยาว

และดำรงความเป็นหนุ่มสาว

เพลงมวยมีตัวหนังสือ 140 ตัว

แต่ละตัวอักษรล้วนเป็นความจริง

ทั้งความหมายก็สมบูรณ์พร้อม

ถ้าท่านไม่ศึกษาในลักษณะนี้

ท่านย่อมเสียเวลาเปล่า

ได้แต่ทอดถอนใจภายหลัง”
• จุดประสงค์สุดท้ายคือยืดอายุให้ยืนยาว ดำรงความเป็นหนุ่มสาวซึ่งต้องใคร่ครวญให้ถ้วนถี่ว่านี่คือเป้าหมายที่แท้จริงของเคล็ดวิชาและการฝึกฝนวิชามวยไทเก็ก

• คัมภีร์ไทเก็กมีเนื้อหาเป็นภาษาจีน 140 ตัวอักษร ความหมายของภาษาจีนแต่ละตัว แต่ละคำล้ำลึก กว้างขวาง พลิกพลิ้วพิสดารยิ่งนัก แม้ว่าซุนผู้นิรนามจะเชี่ยวชาญเชิงอักษรศาสตร์และเข้าใจอรรถรสแห่งภาษาอย่างลึกซึ้งก็ตาม แต่ยามถ่ายทอดจากภาคจีนมาเป็นภาคไทยในความหมายภาษาจีนแต่ละคำก็ไม่ใช่สิ่งที่กระทำได้ง่ายดายนัก ภาษาจีนยังต้องอ่านความหมาย เมื่อเป็นภาษาไทยก็ยิ่งต้องอ่านความหมายและต้องอ่านให้ลึกลงไปถึงธาตุแท้ของความหมายในภาษาจีนด้วย นั่นคือความหมายของแต่ละคำ ความหมายของความรวมที่ประกอบขึ้นจากคำต่าง ๆ และประมวลความรวมทั้งหมดของคัมภีร์
• หากไม่ศึกษาในลักษณะนี้ก็ย่อมเสียเวลาเปล่าและต้องทอดถอนใจในภายหลัง แต่ทว่าการศึกษาในลักษณะเช่นนี้ก็ยังเป็นเพียงส่วนเดียวและเป็นความหมายด้านเดียว โดยละไว้ไม่กล่าวถึงอีกด้านหนึ่ง ซึ่งก็คือการฝึกฝนและการปฏิบัติ การศึกษาแต่คัมภีร์โดยไม่มีการฝึกฝนอบรมปฏิบัติก็จะได้ประโยชน์แค่ระดับชั้นเพียงความรับรู้เท่านั้น ไม่ถึงขั้นการสัมผัสรสชาติธาตุแท้เนื้อหาสาระที่เป็นจริงของวิชาไทเก็ก
• หมั่นศึกษาในลักษณะที่ซุนนิรนามได้แปลไว้ แล้วหมั่นฝึกฝนอบรมปฏิบัติตนไปตามเคล็ดวิชาแห่งคัมภีร์ เห็นจะได้รับผลดีเป็นมั่นคง เห็นจะไม่ต้องทอดถอนใจในภายหลังเป็นมั่นคง

บทที่ 2 จากทั่วไปสู่สามัญ
• อริยาบถของคนเราโดยทั่วไปแปรเปลี่ยนไปจากสามัญสู่ทั่วไป ดังนั้นการเริ่มต้นของวิชาไทเก็กจึงต้องปรับสภาพเข้าสู่สภาพเดิมคือจากทั่วไปสู่สามัญ ภาวะที่เป็นสามัญนั้นคือภาวะที่มีความพร้อมอย่างยิ่งที่จะขับเคลื่อนตัวไปในกระบวนวิชาไทเก็ก
• เหตุที่คนเราโดยทั่วไปได้แปรเปลี่ยนจากสามัญสู่ทั่วไปก็เพราะว่ากิจกรรมของคนเราในสังคมที่พัฒนาเปลี่ยนแปลงไปย่อมเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย ความเป็นธรรมชาติ ความเป็นสามัญของความเป็นมนุษย์ก็ผันแปรเปลี่ยนแปลงไป เป็นสภาวะผันแปรเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปในทางทำให้สุขภาพอนามัยและอายุขัยของผู้คนลดน้อยถอยลง จากปกติซึ่งควรมีอายุได้ถึง 120 ปี ก็ลดลงมาโดยลำดับ
• การสูญเสียพลังทางเพศที่เกินปกติมีผลต่อการทำให้สุขภาพอนามัยและอายุขัยลดลงถึง 20 ปี ดังนั้นจักรพรรดิบางพระองค์ซึ่งแม้ว่าจะทรงสมบูรณ์ไปด้วยทรัพย์สิ่งศฤงคาร ยาบำรุง และความรู้ทางวิชาการในการรักษาสุขภาพอนามัยมากมายสูงส่งสักปานใด แต่ก็ไม่อาจหยุดยั้งอายุขัยที่สั้นลงเอาไว้ได้ และทำให้เกิดสภาพอายุสั้นและสวรรคตก่อนวัย
• การนอนน้อยเกินปกติอย่างต่อเนื่องยาวนานจะทำให้อายุขัยสั้นลงถึง 15 ปี แต่ถ้าอดนอนต่อเนื่องเพียง 5 วันหรือ 7 วันก็อาจถึงตายได้
• การดื่มสุรามากเกินขนาดอย่างต่อเนื่องยาวนานย่อมลดทอนสุขภาพอนามัยและอายุขัยให้สั้นลงถึง 10 ปี ในขณะที่การสูบบุหรี่ กัญชา ซิก้าร์ บั่นทอนสุขภาพอนามัยและทำให้อายุขัยสั้นลงไม่เกิน 5 ปี
• การกินอาหารของยักษ์มารคือเนื้อ นม ไข่ อย่างต่อเนื่องยาวนาน มีผลทำให้สุขภาพอนามัยและอายุขัยสั้นลง 20 ปี การกินผัก ปลา ซึ่งเป็นอาหารของมนุษย์ทำให้สุขภาพอนามัยอายุขัยเป็นสามัญ ในขณะที่การกินผัก หญ้า ซึ่งเป็นอาหารเทวะทำให้สุขภาพอนามัยและอายุขัยยืนยาวถึง 20 ปี
• การอยู่ในที่สภาวะอากาศไม่บริสุทธิ์หรือเป็นพิษอย่างต่อเนื่องยาวนานอาจทำให้สุขภาพอนามัยและอายุขัยสั้นลงถึง 40 ปี
• ความมีจิตใจที่สงบเยือกเย็นเบิกบาน ไร้ความเครียดกังวล มีความปิติยินดี มีความสุขอันเกิดแต่วิเวกหรือเกิดแต่สมาธิ จะทำให้สุขภาพอนามัยและอายุขัยยืนยาวถึง 20 ปี หรือกว่านั้น ขึ้นอยู่กับระดับภูมิธรรมแห่งจิตที่ทำให้เกิดความเป็นเอกภาพระหว่างร่างกาย ปราณ และจิตมากน้อยเพียงใด
• การออกกำลังกายแต่พอประมาณทำให้สุขภาพอนามัยและอายุขัยยืนยาวได้ 15 ปี แต่ถ้ามากเกินควรก็อาจทำให้ตายได้โดยฉับพลัน และทำให้อายุขัยสั้นลงถึง 5 ปี
• ความผันแปรเปลี่ยนแปลงของคนเราตามสภาวการณ์ของสังคมทำให้เกิดสภาพบวกลบของสุขภาพอนามัยและอายุขัย และผันแปรไปตามการประพฤติปฏิบัติของแต่ละคน นี่ก็เป็นเคล็ดวิชาอย่างหนึ่งแห่งวิชาไทเก็ก เพราะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้สุขภาพอนามัยดีมีอายุขัยยาวนาน หรือสั้นลงกว่าปกติที่ควรเป็น
• เพราะความคราคร่ำหมกมุ่นอยู่ในวังวนของชีวิตประจำวันจึงทำให้ความเป็นสามัญที่เปี่ยมไปด้วยความพร้อมของร่างกายตกอยู่ในวังวนแห่งความเป็นทั่วไปตามสภาพชีวิตประจำวันด้วย ทำให้ขาดความพร้อมในการขับเคลื่อนพลังและวิชาไทเก็ก เพราะเหตุนี้จึงต้องปรับเปลี่ยนสภาพร่างกายจากทั่วไปสู่สามัญเป็นเบื้องต้นก่อน
• สามัญลักษณะคือว่างกับนิ่ง ว่างกับนิ่ง เหมือนไร้พลัง เหมือนไร้การเคลื่อนไหว แท้จริงกลับเปี่ยมด้วยพลัง และเปี่ยมด้วยการเคลื่อนไหวที่ทรงพลังด้วย
• คนทั่วไปไม่รู้จักความว่าง ทั้งที่ความว่างยิ่งใหญ่ ไร้ขอบเขต ไร้ข้อจำกัดใด ๆ

ผืนดิน แผ่นน้ำ แม้กว้างใหญ่ แต่น้อยนิดเมื่อเทียบกับพื้นผิวพิภพ

พื้นผิวพิภพอันประกอบขึ้นเป็นเครื่องห่อหุ้มโลกเรานี้แม้กว้างใหญ่ แต่น้อยนิดเมื่อเทียบกับระบบสุริยะ (Galaxy) อันยิ่งใหญ่

ระบบสุริยะอันยิ่งใหญ่นี้ยังเป็นเพียงส่วนน้อยนิดและส่วนเดียวของหมื่นแสนระบบสุริยะหรือหมื่นแสนโลกธาตุ อันหาที่สุดมิได้

หมื่นแสนโลกธาตุหรือหมื่นแสนระบบสุริยะอันยิ่งใหญ่นั้นตั้งอยู่ที่ไหนเล่า

ก็ตั้งอยู่ในความว่างนั่นเอง นี่คือความว่างทางกายภาพหรือทางฟิสิกส์

ซึ่งเป็นความว่างเพียงชนิดหนึ่งชนิดเดียวในบรรดาความว่างทั้งหลาย

ในร่างกายของเรานี้ก็มีความว่างที่ยิ่งใหญ่

ความว่างหนึ่งคือความว่างภายในอณูและระหว่างอณูอันประกอบเข้าเป็นร่างกายนี้

อีกความว่างหนึ่งซึ่งยิ่งใหญ่กว่าคือความว่างแห่งจิต

จิตไร้อานุภาพ อ่อนแอ หงอยเหงาเศร้าซึม ก็เพราะขาดไร้ซึ่งความว่าง

เมื่อใดจิตถึงซึ่งภาวะความว่างอันยิ่งใหญ่หรือวิมุตตะมิติแล้ว เมื่อนั้นจิตก็มีอานุภาพยิ่งใหญ่


อย่างน้อยที่สุดสามารถสำแดงฤทธิ์ต่าง ๆ อันพ้นวิสัยมนุษย์ธรรมดาได้


คนเดียวแปลงเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนทำเป็นคนเดียวก็ได้ ลอยไปในอากาศก็ได้ เดินไปบนผิวน้ำก็ได้ แทรกตัวไปในภูเขาหรือดำลงไปในแผ่นดินก็ได้ กำบังตนก็ได้

สามารถได้ยินเสียงทิพย์และเสียงมนุษย์อันล่วงพ้นโสตมนุษย์ก็ได้ สามารถเห็นโลกทั้งหลายและสัตว์ทั้งหลาย ทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต อันล่วงพ้นจักษุมนุษย์ก็ได้ มีฤทธิ์มาก สามารถลูบคลำดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ก็ได้ สามารถไปถึงพรหมโลกด้วยนามกายก็ได้

อา! ความว่างช่างยิ่งใหญ่และมีอานุภาพสุดประมาณนัก

แล้วไยคนเราไม่ศึกษา ไม่ทำความเข้าใจ และไม่เข้าถึงความว่างเล่า?
• ลูกเกาทัณฑ์ที่เคลื่อนไหวไปด้วยแรงยิง สุดแรงแล้วก็ร่วงหล่นลง

เกาทัณฑ์เคลื่อนไปด้วยแรงและพลังและร่วงหล่นลงเมื่อสิ้นแรงพลัง

ความเคลื่อนไหวคือความเริ่มต้นของการร่วงหล่นและสิ้นพลัง

ความนิ่งต่างหากคือความเริ่มต้นของแรงและพลังทั้งปวง
• ความว่างและความนิ่งคือสามัญลักษณะที่พึงเข้าถึง จึงสามารถเปล่งอานุภาพแห่งท่าร่างและกำลังภายในของไทเก็กได้อย่างสมบูรณ์ และเพราะเข้าถึงความนิ่งและความว่าง อายุขัยจึงยืนยาวอย่างแท้จริง นั่นคือการบรรลุถึงสุดยอดวิชาไทเก็ก.

บทที่ 3 ไทเก๊กจินเก็ง , ไท่ จี๋ ฉวนจิง
คัมภีร์ไทเก็ก (ไท่ จี๋ ฉวนจิง) ของปรมาจารย์ จาง ซาน ฟง
บัญญัติในรัชสมัยของพระเจ้าซ่งฮุ่ยจง

คัมภีร์ไทเก็กที่บัญญัติโดยปรมาจารย์เตียซำฮงนั้นเป็นภาษาจีน ประกอบด้วยตัวอักษร 140 ตัวอักษร เป็นภาษาจีนโบราณในยุคราชวงศ์ซ้อง ดังนั้นความหมายของภาษาในยุคนั้นจึงอาจมีความหมายแตกต่างกับความเข้าใจในภาษายุคปัจจุบัน ซุนผู้นิรนามได้พยายามทุ่มเทแปลคัมภีร์มวยไทเก็ก หรือไท่จี๋ฉวนจิง หรือไทเก็กจินเก็งออกมาเป็นภาคไทยเมื่อหลายปีก่อน

ดังนั้นเมื่อจะทำความเข้าใจและศึกษาวิชาไทเก็ก จึงต้องศึกษาจากคัมภีร์หลักที่ปรมาจารย์เตียซำฮงเป็นผู้บัญญัติเป็นเบื้องต้น จากนั้นจึงค่อยพิจารณาทำความเข้าใจแล้วฝึกฝนในการปฏิบัติ ซึ่งมีคำอธิบายและมีผู้รู้มากมายได้ตั้งแต่งคำอธิบายและอบรมสั่งสอนอยู่ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันนี้

ในบทที่ 3. นี้จึงเป็นบทที่ว่าด้วยคำแปลคัมภีร์ไทเก็กจินเก็ง หรือไท่จี๋ฉวนจิง ของปรมาจารย์เตียซำฮง ซึ่งซุนผู้นิรนามได้แปลไว้ดังจะนำมาเสนอโดยลำดับดังนี้
• ในความเคลื่อนไหว ทุกส่วนของร่างกายต้องเบา
คล่องแคล่ว และร้อยรัดเป็นหนึ่งเดียว
• พลังลมปราณ ควรถูกกระตุ้น
จิตวิญญาณ ควรรวมอยู่ภายใน
ท่าร่าง ๆ ต่าง ๆ อย่าให้ขาดตอน หรือมีช่องโหว่
ยุบหรือยืน หรือท่วงท่าต่อเนื่อง และไม่ต่อเนื่อง
• การเคลื่อนไหว ควรหยั่งรากที่เท้า
ปล่อยผ่านขา ควบคุมด้วยเอว
และสำแดงผ่านนิ้วมือ
• เท้า ขา และเอว ต้องกระทำการเคลื่อนไหวร่วมกันอย่างพร้อมเพรียง
เพื่อให้ขณะที่ก้าวไปข้างหน้าหรือข้างหลัง จังหวะและตำแหน่งจะได้ถูกต้อง
ถ้าจังหวะและตำแหน่งไม่ถูกต้อง ร่างกายจะระส่ำระส่าย
และต้องค้นหาจุดบกพร่องที่ขาและเอว
ขึ้นหรือลง หน้าหรือหลัง ซ้ายหรือขวา ล้วนเหมือนกัน
• ทั้งหมดล้วนเป็นจิตหยั่งรู้
ย่อมไม่ใช่สิ่งภายนอก
ถ้ามีขึ้น ย่อมมีลง
ถ้ามีขึ้นหน้า ก็มีถอยหลัง
ถ้ามีซ้ายก็มีขวา
ถ้าจิตหยั่งรู้ อยากขึ้นบน ในขณะเดียวกัน มันก็ประกอบด้วยความคิดที่จะลงล่าง
• หากมีการสลับพลัง ดึงและผลัก
รากย่อมคลอนแคลน
และวัตถุนั้นจะล้มลงอย่างรวดเร็ว โดยมิต้องสงสัย
• สิ่งที่ไร้ตัวตนและสิ่งที่มีตัวตน ควรจำแนกให้ชัดเจน
ที่แห่งหนึ่ง มีสิ่งที่ไร้ตัวตน และสิ่งที่มีตัวตน
ทุกหนทุกแห่ง มีสิ่งที่ไร้ตัวตน และมีรูปแบบของสิ่งที่มีตัวตนอย่างเดียวกัน
ทุกสัดส่วนของร่างกายร้อยรัดเข้าด้วยกัน โดยไม่ขาดช่วงแม้แต่น้อย
• ไทเก็ก (ไท่จี๋ฉวน หรือฉางฉวน) เฉกเช่น แม่น้ำสายใหญ่
ที่หมุนวนอย่างไม่ขาดสาย
ปิดสกัดปัดป้อง (เผิง)
ฉุดดึงกลับ (หลี่)
เบียดดัน (จี๋)
ผลักออก (อั้น)
ดึง (ไช่)
แยกมือแยกร่าง (เลี๊ยะ)
ศอก (โจ่ว)
ไหล่ (เค่า)
คือ 8 ประตู 8 ลักษณะ (อัฏฐลักษณ์)
• ก้าวขึ้นหน้า ก้าวถอยหลัง
มองซ้าย แลขวา
และดุลยภาพศูนย์กลางคือ 5 ธาตุ
• “เผิง หลี่ จี๋ อั้น” คือ
สวรรค์ (เฉียน) แผ่นดิน (คุณ)
ไฟ (หลี) น้ำ (กัน)
และเป็นทิศหลักทั้ง 4 คือ
ตะวันออก
ตะวันตก
เหนือ
ใต้
• ไช่ เลี๊ยะ โจ่ว เค่า คือ
ลม (ซุ่น)
สายฟ้าร้อง (เจิ้ง)
ทะเลสาบ (ตุ้ย)
ภูเขา (เกิน)
คือทิศเฉียงทั้ง 4 ได้แก่ อาคเนย์ หรดี พายัพ และอีสาน
• ก้าวขึ้นหน้า เดินถอยหลัง
มองซ้าย แลขวา
ดุลยภาพอยู่ ณ ศูนย์กลาง
คือธาตุทอง ธาตุไม้ ธาตุน้ำ ธาตุไฟ และธาตุดิน
รวมกันแล้ว เหล่านี้ประกอบขึ้นเป็น 13 ท่าร่าง
• บทเพลง 13 กระบวนท่า หรือ 13 ท่าร่าง คือ
1. เผิง คือ ปัดป้อง ปิดสกัด
2. หลี่ คือ ฉุด ดึงกลับ
3. จี้ คือ เบียด กด
4. อั้น คือ ผลัก กระแทก
ทั้ง 4 กระบวนท่านี้รวมเรียกว่าท่าคว้าจับหางนกกระจอก

5. ไช่ คือ ฉุดลงร่าง
6. เลียะ คือ แยกฝ่ามือ แยกร่าง
7. โจ่ว คือ ฟันศอก
8. โค่ว คือ ไหล่กระแทก
ทั้ง 4 กระบวนท่านี้เมื่อรวมกับ 4 กระบวนท่าแรก รวมเรียก 8 ประตู หรือ 8 ลักษณะ

9. เหลียวซ้าย
10. แลขวา
11. รุดหน้า
12. ถอยหลัง
13. ตั้งมั่นตรงกลาง
• กระบวนท่าก้าวเท้า 5 ท่า
1. หม่าปู้ คือ ยืนนั่งม้า
2. กงปู้ คือ ยืนคันธนู
3. ติงปู้ คือ ยืนพักเท้า (เข่าผ่อนคลาย)
4. ภูปู้ คือ ยืนส้นเท้ากดต่ำ
5. ชิปู้ คือ ปลายเท้าแตะพื้นเบา ๆ

บทที่ 4 คำภีร์ไท่จี๋ฉวนหลุน
1. คัมภีร์ไท่จี๋ฉวนหลุน เป็นคัมภีร์บทขยายของคัมภีร์ไทจี๋ฉวนจิง บัญญัติโดยหวางจงเยี่ย แห่งเมืองเหอหนาน ซึ่งมีชีวิตอยู่ในช่วง คศ. 1736-1795 เป็นศิษย์สายตรงคนสำคัญของปรมาจารย์เตียซำฮง

เนื่องจากเคล็ดวิชาไทเก็กนั้นลึกซึ้ง ล้ำลึก และประณีตยิ่งนัก แม้ในยุคสมัยใกล้เคียงกับยุคสมัยที่ปรมาจารย์เตียซำฮงยังมีชีวิตอยู่ ก็ยังมีความเข้าใจที่สับสนกันเป็นอันมาก หวางจงเยี่ยจึงได้แต่งคัมภีร์ไท่จี๋ฉวนหลุนขึ้นอีกฉบับหนึ่ง อรรถาธิบายขยายความคัมภีร์ไทเก็กของปรมาจารย์เตียซำฮงให้กว้างและละเอียดขึ้นอีกขั้นหนึ่ง

ซุนผู้นิรนามได้แปลคัมภีร์ไท่จี๋ฉวนหลุนออกเป็นภาคไทย ต่อเนื่องจากการแปลคัมภีร์ไท่จี๋ฉวนจิง ดังที่จะได้นำมาเสนอดังต่อไปนี้

๐ ไท่จี๋ มาจาก ยิ่งใหญ่สุดยอด
หวู่จี๋ No Extremities คือความว่าง สุดยอด
และเป็นมารดาของหยินและหยาง

๐ กระบวนท่าคล้อยตามเกาะติด
ในความเคลื่อนไหวมันแยกจากกัน
ในความหยุดนิ่งมันหลอมรวมกัน
ไม่ขาดไม่เกิน
ดังนั้น
ยามมันงอ มันพลันเหยียดตรง
เมื่อปรปักษ์แข็งมา ข้ากลับอ่อน
นี่เรียกว่าการคล้อยตามเกาะติด (โส่ว)

๐ กระบวนท่าเกาะติดอ่อนตาม
เมื่อข้าติดตามปรปักษ์
และเขาหมุนตัวกลับ
นี่เรียกว่าการเกาะติดอ่อนตาม (เหนียน)

๐ ถ้าปรปักษ์เคลื่อนไหวรวดเร็ว ก็ตอบโต้เร็วตาม
ถ้าเขาเคลื่อนไหวเชื่องช้า ก็เชื่องช้าตาม
แม้นว่าการเปลี่ยนแปลงมีมากมาย
หลักการที่ครอบคลุมมันมีเพียงหนึ่งเดียว

๐ จากความคุ้นเคย กับการสัมผัสที่ถูกต้อง
จะค่อย ๆ เข้าใจ กำลังภายในทีละน้อย
จากความเข้าใจในกำลังภายใน
ย่อมสามารถเข้าถึงภูมิปัญญา
ปราศจากการฝึกหนักและยาวนานต่อเนื่อง
ย่อมไม่สามารถเข้าใจมันได้ทันที
กำลังภายในบรรลุถึงกระหม่อมโดยไม่ต้องพยายาม
ปล่อยให้ลมปราณจมลงสู่ตันเถียน
อย่าเอนเอียงไปในทิศทางใด ๆ
บัดเดี๋ยวปรากฏ
บัดเดี๋ยวสูญหาย
ทำด้านซ้ายให้ว่าง
เมื่อใดที่ปรากฏแรงดัน เฉกเช่นด้านขวา

๐ ถ้าปรปักษ์ยืนขึ้น ข้าจะดูสูงกว่า
ถ้าเขาย่อตัวลง ข้าจะดูต่ำเตี้ยกว่า
รุกไปข้างหน้า ระยะทางดูไกล อย่างไม่น่าเชื่อ
ก้าวถอยหลัง ระยะทางดูใกล้ขึ้นอย่างยิ่งยวด
วัตถุที่เบาดั่งขนนกมิอาจวางลง
และแมลงที่เล็กดั่งแมลงวัน
มิอาจบินเกาะบนส่วนใด ๆ ของร่างกายได้เลย

๐ ปรปักษ์ไม่รู้จักข้า
ข้ารู้จักเขาฝ่ายเดียว
การเป็นจอมยุทธ์ไร้เทียมทาน เป็นผลจากสิ่งนี้

๐ มีวิทยายุทธ์เป็นอันมาก
แม้นว่ามันใช้รูปแบบที่แตกต่างกัน
ส่วนใหญ่แล้วไม่พ้นไปจากผู้เข้มแข็งข่มผู้อ่อนแอ
และผู้เชื่องช้ายอมตามผู้ที่ว่องไวกว่า
ผู้เข้มแข็งโค่นล้มผู้อ่อนแอ
และมือที่เชื่องช้ายินยอมต่อมือที่ว่องไว
ทั้งหมดล้วนเป็นผลของสมรรถภาพทางกายที่แฝงเร้นอยู่ภายใน
ไม่ใช่ผลทางเทคนิคที่ฝึกฝนมาอย่างดี

๐ จากวลีที่ว่า “สี่ตำลึง ปัดพันชั่ง” (ใช้แรงน้อยปัดแรงมาก)
เราจึงรู้ว่าเทคนิคมิได้สำเร็จด้วยพละกำลัง
ภาพของคนชราโค่นล้มกลุ่มคนหนุ่ม
จะเนื่องมาจากความว่องไวได้อย่างไร

๐ ยืนให้สมดุล และหมุนอย่างขันแข็งดั่งล้อรถ
การจมลงด้านหนึ่งคือการตอบโต้
การรับน้ำหนักพร้อมกัน 2 ขา คือภาวะนิ่งงันอันเฉื่อยชา
ผู้ใดที่ใช้เวลาหลายปีฝึกฝน
แต่ยังคงไม่สามารถปัดป้องได้
และถูกปรปักษ์ ควบคุมเอาไว้เสมอ
เพราะไม่เข้าใจ
ข้อผิดพลาด ของการรับน้ำหนักพร้อมกัน 2 ขา
เพื่อหลีกเลี่ยงความผิดพลาดนี้
ต้องเรียนรู้ หยินและหยาง
หยินและหยางเสริมช่วยเหลือกัน และเปลี่ยนแปลงกันและกัน
จากนั้นท่านย่อมพูดได้ว่า
ท่านเข้าใจกำลังภายใน
หลังจากท่านเข้าใจกำลังภายใน
ยิ่งฝึกฝนมากก็ยิ่งชำนาญมาก
สะสมความรู้อย่างเงียบ ๆ
และหมั่นทบทวน
ท่านจะค่อย ๆ ทำตามที่ต้องการได้เอง

๐ เดิมทีคือการละวางตัวเอง
เพื่อติดตามคนอื่น
คนส่วนใหญ่ละทิ้งที่ใกล้ เพื่อแสวงหาที่ไกล
กล่าวกันว่า
“พลาดเพียงเล็กน้อย จะออกนอกทางไปหลายลี้”
ผู้ฝึกฝนต้องศึกษาอย่างระมัดระวัง นี่คือตำรา (หลุน)

๐ จิตใจระดมพลังลมปราณ ทำให้ลมปราณจมลงอย่างราบเรียบ
แล้วมันจะรวมกัน
และซ่านซึมสู่กระดูก
ลมปราณระดมพลังร่างกาย
ทำให้มันเคลื่อนไหวอย่างราบรื่น
หลังจากนั้นมันจึงทำตาม
คำบงการของจิตใจได้ง่าย

๐ จิตหยั่งรู้ และลมปราณ
ต้องเปลี่ยนแปลงอย่างคล่องแคล่ว
จึงจะมีความยอดเยี่ยม
ของความกลมและความราบรื่น
นี่เรียกว่า
“การเปลี่ยนแปลงของสิ่งที่ไร้ตัวตน และสิ่งที่มีตัวตน”

๐ จิตใจคือผู้บัญชาการ
ลมปราณคือธง
และเอวคือแผ่นป้ายผ้า
เอวเฉกเช่นเพลา
และลมปราณดุจดั่งล้อ
ลมปราณได้รับการบำรุงเลี้ยงอยู่เสมอ
โดยปราศจากภยันตราย
ปล่อยให้ลมปราณเคลื่อนไหว
เฉกเช่นไข่มุกเปล่ง 9 ประกาย
โดยไม่ติดขัด
จึงไม่มีส่วนใดของร่างกายที่มันไปไม่ถึง

๐ ในการเคลื่อนไหว
ลมปราณแนบติดหลัง
และซึมซ่านสู่กระดูกสันหลัง
กล่าวกันว่า “อยู่ในใจก่อน”
แล้วจึงอยู่ในร่างกาย
ผ่อนคลายท้อง
แล้วลมปราณจะจมลงสู่กระดูก
เมื่อจิตวิญญาณผ่อนคลาย
ร่างกายจะสงบ
มันอยู่ในใจเสมอ

๐ ความสามารถที่จะหายใจอย่างเหมาะสม
นำไปสู่ความคล่องแคล่ว
อ่อนที่สุด
จึงกลายเป็น
เข้มแข็งที่สุด.






เด็กชายไร้นาม
#2   เด็กชายไร้นาม    [ 28-09-2009 - 12:55:10 ]

ช่วงเคล็ดอาจไม่ค่อยละเอียด ถ้าอ่านแล้วไม่เข้าใจก็ถามนะครับ เพราะมันไม่ค่อยมีคำอธิบาย ช่วงเคล็ดวิชา



richman
#3   richman    [ 28-09-2009 - 18:40:47 ]

ความรู้ทั้งนั้น



ศพเหล็ก
#4   ศพเหล็ก    [ 28-09-2009 - 19:00:49 ]

ตอนนี้ข้าไม่มีเวลาจะมาฝึกวิชาหรอก ข้าต้องปกครองบ้านเมือง



เด็กชายไร้นาม
#5   เด็กชายไร้นาม    [ 28-09-2009 - 19:24:02 ]

... อ่านะท่าน



สยบทั่วเเผ่นดิน
#6   สยบทั่วเเผ่นดิน    [ 28-09-2009 - 19:32:49 ]

ช่วงนี้ดูท่าอยู่ในสภาวะการเเข่งขันสูงนะ ขอรับ มีทั้งเก้ากระบี่เดียวดาย มวยไทเก๊ก มุซาชิ เหมือนมีนัยว่าอย่างไหนมีดีกว่า



กระบี่6ชีพจร
#7   กระบี่6ชีพจร    [ 28-09-2009 - 19:34:10 ]

นับถือๆ



เด็กชายไร้นาม
#8   เด็กชายไร้นาม    [ 28-09-2009 - 21:13:16 ]

ไม่แข่งขันหรอกท่าน...ผมเห็นว่าผมนำฉบับนู้น(ฉบับตระกูลอู๋) มาลงให้เมื่อประมาณเดือนครึ่งที่แล้ว วันนี้เลยนำฉบับสมบูรณ์มาให้ลองฝุกเพราะฉบับตระกูลอู๋จะทำให้เข้าใจไทเก๊กเบื้องต้นได้ง่าย พอฝึกฉบับนี้ก็จะง่ายขึ้นครับ แต่ผมแนะนำฉบับนี้มากกว่าครับ



ศพเหล็ก
#9   ศพเหล็ก    [ 29-09-2009 - 13:02:45 ]

นี่ๆ ถ้าฝึกแล้วไปต่อยกับคนอื่นจะชนะมั้ย



เตียบ่อกี้
#10   เตียบ่อกี้    [ 29-09-2009 - 13:18:46 ]

ท่านจะไปต่อยกับใครหรือขอรับ



ศพเหล็ก
#11   ศพเหล็ก    [ 29-09-2009 - 13:19:31 ]

มิชิล



เด็กชายไร้นาม
#12   เด็กชายไร้นาม    [ 29-09-2009 - 13:39:54 ]

มิชิล คือ...



ศพเหล็ก
#13   ศพเหล็ก    [ 29-09-2009 - 14:48:57 ]

นังผู้หญิงชั่ว เซจูมิชิล



ศพเหล็ก
#14   ศพเหล็ก    [ 29-09-2009 - 14:49:41 ]

มีเก้าอิมั้ย ข้าจะฝึก



เด็กชายไร้นาม
#15   เด็กชายไร้นาม    [ 29-09-2009 - 20:58:50 ]

ใครหว่า... ไม่รู้จักอ่าครับ

เก้าอิมจินเก็ง...ท่าจะยากเพราะผมไม่ได้ฝึกอ่ะครับ...



สยบทั่วเเผ่นดิน
#16   สยบทั่วเเผ่นดิน    [ 30-09-2009 - 22:55:28 ]

ว่าแต่วิชานี้เป็นของปรมจารย์เตียซำฮง น่าจะเป็นสุดยอดวิชาบู๊ตึ้ง หรือวิชาลับใยท่านจึงรู้นำมาเปิดเผยได้

ปัจจุบันแพร่หลายในสังคมนัก สาเหตุมาจากเหตุใดรึ ขอรับ



เด็กชายไร้นาม
#17   เด็กชายไร้นาม    [ 01-10-2009 - 10:10:56 ]

สาเหตุที่แพร่หลายในปัจจุบันเพราะมีการนำไปปรับปรุงหรือแก้ไขครับ เลยออกมาเป็นหลายฉบับ จนแพร่หลายในที่สุดครับ



ศพเหล็ก
#18   ศพเหล็ก    [ 01-10-2009 - 22:34:47 ]

วิชาคงกระพัน วิชาอุดกระสุน วิชาเสกหุ่นพยน เสกควายธนู ไรประมานนี้มีมั้ย ข้าต้องการ



9กระบี่ต๊กโก
#19   9กระบี่ต๊กโก    [ 02-10-2009 - 01:13:41 ]




เด็กชายไร้นาม
#20   เด็กชายไร้นาม    [ 02-10-2009 - 15:59:09 ]

...



ตอบกระทู้
ชื่อ
รหัส กรอกตัวอักษร ตามภาพ
ข้อความ


emo-smile emo-happy emo-lol emo-enjoy emo-kiku emo-cool emo-hoho emo-drool emo-hungry emo-kiss emo-sorry emo-sad emo-cry emo-tear emo-question emo-doubt emo-shock emo-redface emo-plz emo-peevish emo-angry emo-moody emo-sneer emo-makefaces emo-good emo-touched emo-love emo-bore emo-tired emo-vomit
bold italic underline img link superscript subscript size color space justifyleft justifycenter justifyright quote box youtube