เข้าระบบอัตโนมัติ

ซ่งใต้ (ค.ศ. 1127 – 1279)


  • 1
เตียบ่อกี้
#1   เตียบ่อกี้    [ 26-01-2008 - 19:44:35 ]

ราชวงศ์ซ่งใต้ (南宋) ก่อตั้งขึ้นโดยเจ้าโก้ว (赵构) ชาวฮั่นซึ่งเป็นทายาทของตระกูลเจ้า ที่สืบทอดมาจากราชวงศ์ซ่งเหนือ ก่อตั้งราชธานีขึ้นในบริเวณดินแดนแถบเจียงหนาน (พื้นที่ซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของแม่น้ำแยงซีเกียง) เรียกว่าเมืองหลินอัน (临安; ปัจจุบันคือเมืองหางโจว ในมณฑลเจ้อเจียง) โดยเจ้าโก้วนั้นสถาปนาตนขึ้นเป็น ซ่งเกาจง (宋高宗) ปฐมจักรพรรดิแห่งราชวงศ์ซ่งใต้ กระนั้นตลอดระยะเวลา 153 ปีของราชวงศ์ซ่งใต้ รวมฮ่องเต้ 9 พระองค์ ราชวงศ์นี้กลับตกอยู่ภายใต้การคุกคามของอาณาจักรจิน (คนไทยมักเรียกว่า “กิม”) โดยตลอด จนกระทั่งพบจุดจบภายใต้เงื้อมมือของชนเผ่ามองโกล

ความขัดแย้งภายในและความอ่อนแอของราชวงศ์ซ่งใต้อันเป็นมรดกตกทอดมาจากราชวงศ์ซ่งเหนือ ทำให้ตลอดเวลา 150 กว่าปีของราชวงศ์ซ่งใต้ ชาวฮั่นไม่มีโอกาสที่จะกลับไปยึดครองดินแดนทางภาคเหนือคืนได้อีกเลย โดยพรมแดนทางตอนเหนือสุดของราชวงศ์ซ่งใต้ที่ติดกับเขตแดนของอาณาจักรจินนั้นก็คือ เส้นลากจากแม่น้ำเว่ยสุ่ย (淮水) ผ่านสองเขต ถัง (唐; ปัจจุบันคือถังเหอ มณฑลเหอหนาน) และ เติ้ง (ปัจจุบันคือตำบลเติ้งตะวันออก ในมณฑลเหอหนาน) ไปสิ้นสุดที่ด่านฉินหลิงต้าซ่าน ซึ่งปัจจุบันอยู่ในบริเวณมณฑลส่านซี ขณะที่พรมแดนทางด้านอื่นๆ นั้นยังคงเดิมเหมือนกับราชวงศ์ซ่งเหนือ

หลังจากกองทัพจินบุกเข้าเมืองไคเฟิงกวาดต้อน ซ่งฮุยจงและซ่งชินจง สองฮ่องเต้แห่งซ่งเหนือ รวมถึงเชื้อพระวงศ์ ไปเป็นเชลย อีกทั้งปล้นสะดมทรัพย์สินในท้องพระคลังไปจนหมดสิ้นจนกระทั่งราชวงศ์ซ่งเหนือล่มสลาย ในเดือนสองปี ค.ศ.1127 เนื่องด้วยปีดังกล่าวนั้นเป็นปีแรกของศักราชจิ้งคัง (靖康元年) ทำให้นักประวัติศาสตร์จีนเรียกเหตุการณ์การจับสองฮ่องเต้แห่งราชวงศ์ซ่งเหนือไปเป็นเชลยว่าเป็น เหตุการณ์ปีจิ้งคัง หรือ ทุกขภัยสมัยจิ้งคัง (靖康之变)
ต่อมาในเดือนห้าของปีเดียวกัน เชื้อพระวงศ์และแม่ทัพของกองทัพราชวงศ์ซ่งเหนือที่ล่มสลายนามเจ้าโก้ว ได้อาศัยช่วงเวลาที่กองทัพจินถอนทัพตั้งราชวงศ์ซ่งขึ้นใหม่ที่เมือนหนานจิง (ปัจจุบันคือเมืองซังชิว มณฑลเหอหนาน) และสถาปนาตนเองขึ้นเป็นฮ่องเต้ซ่งเกาจง ในปีถัดมา (ค.ศ.1128) ซ่งเกาจงได้ย้ายราชธานีมาอยู่ที่เมืองหลินอัน (เมืองหางโจวในปัจจุบัน) ซึ่งเป็นเมืองทางตอนใต้ของแม่น้ำแยงซีเกียง และเป็นเมืองที่มีภูมิชัยค่อนข้างดีในการตั้งรับการรุกรานจากอาณาจักรจิน

ทั้งนี้นักประวัติศาสตร์รุ่นหลังได้เรียกขานราชวงศ์ที่ตั้งขึ้นใหม่ ณ ดินแดนเจียงหนานนี้ว่า “ราชวงศ์ซ่งใต้”

หลังยึดดินแดนในแถบเจียงหนานเป็นฐานที่มั่นได้ ฮ่องเต้ซ่งเกาจง ได้แต่งตั้งหลี่กัง (李纲)ขึ้นมาดำรงตำแหน่งอัครมหาเสนาบดี และจงเจ๋อ (宗泽) ขุนนางที่ภักดีต่อราชวงศ์ซ่งขึ้นมาดำรงตำแหน่งเสนาบดี ทั้งยังดำเนินยุทธวิธีทางการทหารหลายประการ เพื่อปกป้องตนเองจากการรุกรานของชนเผ่าจินอย่างแข็งขัน ด้วยการกุมจุดยุทธศาสตร์สำคัญในพื้นที่ต่างๆ, พัฒนายุทโธปกรณ์ทางการทหารให้มีความทันสมัยขึ้น, ปฏิรูประบบการทหารเพิ่มความเข้มแข็งให้กับกองทัพ ซึ่งนับว่าประสบความสำเร็จพอสมควร อย่างไรก็ตามเนื่องจากฮ่องเต้ราชวงศ์ซ่งใต้มีบัญชาให้ดำเนินนโยบายสันติและปกป้องดินแดนเป็นหลัก ทั้งยังมีแนวนโยบายพื้นฐานให้ขุนนางฝ่ายบุ๋นเป็นฝ่ายควบคุมขุนนางฝ่ายบู๊ ยกการเมืองเหนือการทหาร ส่งผลให้การขยายดินแดน การยึดครองดินแดนที่เสียไปในราชวงศ์ซ่งเหนือไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเต็มที่ และก็ด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้หลี่กังซึ่งสนับสนุนให้มีการดำเนินนโยบายยึดดินแดนที่เสียไปกลับคืนมาดำรงตำแหน่งอัครมหาเสนาบดีได้เพียง 75 วันก็ถูกปลด ขณะที่เสนาบดีจงเจ๋อถึงกับตรอมใจตาย

ในประเด็นดังกล่าวนี้ นักประวัติศาสตร์จีนได้มีการวิเคราะห์ถึงสาเหตุที่ฮ่องเต้ซ่งเกาจงไม่ต้องการให้กองทัพของพระองค์บุกขึ้นเหนือไปยึดดินแดนคืนจากพวกจินก็เพราะว่า หนึ่งพระองค์เกรงกลัวต่อกองทัพจิน และสองพระองค์เกรงกลัวว่าหากสามารถปราบพวกจินได้ฮ่องเต้สองพระองค์ที่ถูกจับเป็นเชลยไปคือ ซ่งฮุยจงและซ่งชินจงจะกลับมาแย่งบัลลังก์จากพระองค์ไป ... ด้วยความขัดแย้งอันนี้นี่เองที่ทำให้ภายในราชสำนักซ่งใต้เกิดการกระทบกระทั่งกันระหว่างขุนนางฝ่ายเหยี่ยวและขุนนางฝ่ายพิราบโดยตลอด

ในปี ค.ศ.1128 กองทัพจินได้ทียกทัพลงมารุกรานดินแดนทางตอนใต้อีกครั้ง โดยสามารถบุกตีเมืองสำคัญๆ ได้หลายแห่ง คือ เ...ยนจิง (汴京), สีว์โจว (徐州), หยางโจว (扬州) เป็นต้น ต่อมาในฤดูหนาวปีเดียวกันแม่ทัพของจินนามอูจู๋ (兀术) ได้ยกทัพใหญ่บุกเมืองเจี้ยนคัง (建康) และ หางโจว เมื่อฮ่องเต้ซ่งเกาจงเห็นสถานการณ์กำลังตกอยู่ในภาวะคับขันพระองค์จึงหลบหนีไปยังเมืองติ้งไห่ (定海; ปัจจุบันคือเมืองเจิ้นไห่ มณฑลเจ้อเจียง) และเวินโจว ในเวลาเดียวกันเนื่องจากระหว่างการยกทัพมารุกรานชาวฮั่น ทหารจินได้ทำการฆ่าฟันชาวฮั่นด้วยความโหด...ม ทำให้ในหลายๆ พื้นที่ชาวบ้านมีความโกรธแค้นทหารจินเป็นอย่างมาก จนกระแสการต่อต้านกองทัพจินในหลายพื้นที่นั้นพุ่งขึ้นสูง

ในภาวะวิกฤตของชาติเช่นนี้นี่เอง ทำให้ในกองทัพของราชวงศ์ซ่งใต้ก่อกำเนิดขุนศึกเลื่องชื่อเกิดขึ้นหลายคน โดยหนึ่งในขุนศึกที่ชนรุ่นหลังรู้จักกันดีที่สุดก็คือ งักฮุย

งักฮุย หรือ เย่ว์เฟย (ค.ศ.1103-1142)

เกิดในครอบครัวชาวนาในมณฑลเหอหนาน ค.ศ.1125 ขณะที่งักฮุยอายุได้ 22 ปี เมื่อกองทัพจินบุกลงใต้ เขาได้ร่วมกับกองทัพในการปกป้องเมืองไคเฟิง ด้วยความเก่งกาจในการรบของงักฮุยทำให้เขาได้รับชัยชนะในการต่อสู้กับกองทัพจินโดยตลอด ในเวลาต่อมาเมื่อได้เลื่อนขึ้นเป็นแม่ทัพ งักฮุยได้ฝึกฝนกองทัพอันเข้มแข็งของตัวเองขึ้นในในนาม “กองทัพงักฮุย (岳家军)” ความเข้มแข็งและชัยชนะอย่างต่อเนื่อง ทำให้ทหารจินนั้นครั่นคร้ามต่อกองทัพงักฮุยเป็นอย่างยิ่ง จนมีคำร่ำลือกันในหมู่ทหารจินว่า “โยกภูเขานั้นง่าย คลอนทัพงักฮุยนั้นยากยิ่ง”

ในปี ค.ศ.1140 ภายในอาณาจักจินเกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง โดยแม่ทัพสายเหยี่ยวอย่างอูจู๋ขึ้นมามีอิทธิพลในราชสำนักจิน ส่งผลให้ในเวลาต่อมากองทัพจินยกทัพลงมารุกรานอาณาจักรซ่งใต้อย่างเต็มรูปแบบ โดยมีการแบ่งการเดินทัพออกเป็นหลายสาย อย่างไรก็ตามด้วยการต่อต้านอันเข้มแข็งของประชาชนและทหารซ่งทำให้สามารถยันกองทัพจินเอาไว้ได้ นอกจากนี้ด้วยความกล้าหาญและสามารถของแม่ทัพแห่งราชวงศ์ซ่งหลายต่อหลายนายอย่างเช่น หานซื่อจง (韩世忠), จางจุ้น (张俊) รวมไปถึงงักฮุย ทำให้นอกจากจะสามารถป้องกันอาณาเขตไว้ได้แล้ว กองทัพซ่งยังสามารถรุกเอาดินแดนคืนได้อีกมากมายด้วย โดยกองทัพของงักฮุยสามารถยึดเอาไช่โจว (蔡州; ปัจจุบันอยู่ในมณฑลเหอหนาน) อิ่งชาง (颍昌; ปัจจุบันอยู่ในเหอหนาน) เจิ้งโจว และลั่วหยาง คืนมาจากจินได้ โดยในเวลาต่อมากองทหารม้าของงักฮุยยังสามารถรักษาเหยี่ยนเฉิง (郾城; ปัจจุบันอยู่ในเหอหนาน) และตีกองทัพทหารม้าอันเข้มแข็งของอูจู๋เสียกระเจิงอีกด้วย โดยชัยชนะครั้งนั้นในหน้าประวัติศาสตร์จีนบันทึกเอาไว้ว่าคือ “ชัยชนะที่เหยี่ยนเฉิง (郾城大捷)”

ณ เวลานั้นแม้ว่าสถานการณ์จะเป็นใจอย่างยิ่งต่อการฟื้นฟูประเทศของราชวงศ์ซ่งใต้ แต่ฮ่องเต้ซ่งเกาจงที่ได้รับคำแนะนำจากนายกรัฐมนตรีนามฉินฮุ่ย (秦桧) กลับมีแนวนโยบายในการเจรจาสงบศึกกับอาณาจักรจิน โดยมองว่างักฮุยนั้นคืออุปสรรคของการเจรจา ทำให้มีการส่งป้ายทองอาญาสิทธิ์ 12 ป้ายภายในวันเดียวเรียกให้งักฮุยถอนทัพกลับมาทางใต้ แม้งักฮุยจะพยายามฝืนคำสั่งของราชสำนักเช่นไรแต่สุดท้ายก็ทัดทานไว้ไม่ไหวต้องยกทัพกลับเมืองหลวง ปล่อยให้กองทัพจินยึดดินแดนคืนกลับไป
หลังงักฮุยถอนทัพกลับมายังเมืองหลวง ฉินฮุ่ยก็ใส่ร้ายว่างักฮุยนั้นมักใหญ่ใฝ่สูง คิดการใหญ่จะก่อกบฏล้มล้างราชสำนักจนถูกส่งเข้าคุก ในเวลาเดียวกันราชสำนักซ่งก็บรรลุข้อตกลงในสัญญาสงบศึกกับอาณาจักรจิน สัญญาสงบศึกดังกล่าวลงนามกันในปี ค.ศ.1411 อันเป็นปีที่ 11 ของศักราชเส้าซิงทำให้ได้ชื่อว่าเป็น “สัญญาสงบศึกเส้าซิง” สัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาที่ซ่งใต้เสียเปรียบจินเป็นอย่างมาก เนื่องจากต้องซ่งใต้ต้องยอมลดตัวเป็น ‘บ่าว’ ยกย่องจินไว้เป็น ‘นาย’ ทุกปีซ่งต้องส่งของบรรณาการไปจิ้มก้องให้กับจินเป็นเงิน 250,000 ตำลึงกับผ้าไหมจำนวน 250,000 พับ ทั้งต้องยอมยกดินแดนถังโจว (唐州) เติ้งโจว (邓州) ทั้งหมดรวมไปถึงพื้นที่ครึ่งหนึ่งของ ซังโจว (商州) และฉินโจว (秦州) ให้กับจินด้วย ทั้งนี้ภายหลังการเซ็นสัญญาสงบศึกดังกล่าวได้ไม่นานงักฮุยก็ต้องโทษ “อาจจะมีก็ได้ (莫须有)”* ถึงขั้นประหารชีวิต

ทั้งนี้ในสมัยฮ่องเต้ซ่งใต้องค์ต่อๆ มาก็ยังมีการลงนามในสัญญาสันติภาพอีก 2 ครั้ง โดยมีความเปลี่ยนแปลงในเนื้อหาเล็กน้อย คือ ในสมัยฮ่องเต้ซ่งเสี้ยวจง (宋孝宗) จินกับซ่งเปลี่ยนสถานะเป็นอากับหลาน โดยทุกๆ ปี ซ่งต้องส่งเงิน 200,000 ตำลึง และผ้าไหมจำนวน 200,000 พับให้กับจิน ขณะที่สัญญาสันติภาพในสมัยฮ่องเต้ซ่งหนิงจง (宋宁宗) อาณาจักรจินมีสถานะเป็นลุงของราชวงศ์ซ่ง ขณะที่ทุกๆ ปีซ่งจะต้องส่งเงิน 300,000 ตำลึง และผ้าไหมจำนวน 300,000 พับให้กับจิน



เตียบ่อกี้
#2   เตียบ่อกี้    [ 26-01-2008 - 19:46:11 ]

ซ่งใต้กับอิทธิพลของมองโกล
แม้ว่าหลังจากนั้นจะเกิดศึกสามเส้า เพื่อแย่งดินแดนทางภาคเหนือกันอย่างดุเดือดระหว่าง ชนเผ่ามองโกล ซีเซี่ย และจิน แต่ด้วยความอ่อนแอของราชสำนักซ่งใต้ ทำให้ชาวฮั่นไม่สามารถขยับขยายอาณาจักรของตนให้กว้างขวางได้แต่อย่างใด ทั้งนี้เมื่ออาณาจักรมองโกลเข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ และกลืนอาณาจักรซีเซี่ยไปรวมกับตน ทัพมองโกลอัน...มหาญก็หันมาสู้รบกับอาณาจักรจินที่อาจถือว่าเป็นรัฐกันชนที่ป้องกันอาณาจักรซ่งใต้จากการคุกคามของมองโกล

ภายใต้สภาวะสามเส้าดังกล่าว ราชสำนักซ่งกลับหันไปจับมือกับมองโกลเพื่อจัดการกับจิน โดยผลสุดท้ายแม้จะกำจัดอาณาจักรจินได้สำเร็จ แต่ซ่งใต้กลับไม่อาจยึดคืนดินแดนที่เคยเป็นของตนกลับมาได้ ทั้งความร่วมมือกับมองโกลยังแสดงให้เห็นถึงความอ่อนแอของกองทัพซ่งใต้ให้เป็นที่ประจักษ์อีกด้วย
หลังจากสิ้นรัฐกันชนอย่างจินลง อาณาจักรมองโกลกับซ่งก็เกิดกรณีพิพาททางพรมแดนอยู่เสมอๆ โดยใน ปี ค.ศ.1278 กองทัพมองโกลยกทัพข้ามแม่น้ำแยงซีเกียงลงมาประชิดราชธานีหลินอัน ฮ่องเต้ซ่งกงตี้ (宋恭帝) และพระมารดาจึงตัดสินใจยอมจำนนต่อกองทัพมองโกล ขณะที่ขุนนางบางส่วนที่ยังมีจิตใจคิดสู้ก็ถอนทัพลงไปทางใต้ ถอยไปตั้งหลักยังฝูเจี้ยน กวางตุ้งและตั้งราชธานีชั่วคราวขึ้นโดยยกเจ้าซื่อ และ เจ้าปิ่งขึ้นเป็นฮ่องเต้นามซ่งตวนจง (宋端宗) และซ่งม่อจง (宋末帝) ตามลำดับ ขุนนางเหล่านั้นนำโดย เหวินเทียนเสียง (文天祥), ลู่ซิ่วฟู (陆秀夫), จางซื่อเจี๋ย (张世杰) อย่างไรก็ตามในเดือน 12 ของปีเดียวกัน กองทัพของเหวินเทียนเสียงก็ต้องพ่ายให้แก่กองทัพมองโกลอันแข็งแกร่ง โดยเหวินเทียนเสียงถูกจับเป็นเชลย ณ เมืองต้าตูและเสียชีวิตลงในปี ค.ศ.1282
สำหรับเหวินเทียนเสียงนั้นถือเป็นขุนนางและนักกวีผู้มีชื่อเสียงเลื่องระบืออย่างยิ่งในฐานะผู้ยืดหยัดต่อต้านมองโกล และเป็นผู้ที่มีความซื่อสัตย์อย่างยิ่ง โดยบทกวี กั้วหลิงติงหยาง (过零丁洋) ซึ่งในสองวรรคสุดท้ายเขียนเอาไว้ว่า “นับแต่อดีตมามีผู้ใดบ้างที่เคยหนีจากความตายได้ จะเหลือทิ้งไว้ก็แต่เพียงหัวใจอันสัตย์ซื่อนี้ที่ส่องสว่างอยู่ในประวัติศาสตร์ (人生自古谁无死, 留取丹心照汗青。)” เป็นประโยคที่คนจีนทุกคนยังท่องจำได้ขึ้นใจจนกระทั่งปัจจุบัน

ค.ศ.1279 ปีที่สองของรัชสมัยเสียงซิงของซ่งม่อตี้ กองทัพมองโกลยกทัพเข้าตีภูเขาหยาซานโดยคราวนี้ลู่ซิ่วฟูต้องแบกฮ่องเต้หลบหนีและหายสาบสูญไป ขณะที่จางซื่อเจี๋ยนั้นพลีชีพไปในการรบ จากเหตุการณ์นี้เองที่นักประวัติศาสตร์ถือว่าเป็นจุดสิ้นสุดของราชวงศ์ซ่งใต้



vมังกรหลับv
#3   vมังกรหลับv    [ 26-01-2008 - 22:05:39 ]

รวมเป็นกระทู้เดียวมันไม่ดีกว่าหรอคับ



เตียบ่อกี้
#4   เตียบ่อกี้    [ 26-01-2008 - 22:10:51 ]

จะทำตามขอรับ



  • 1
ตอบกระทู้
ชื่อ
รหัส กรอกตัวอักษร ตามภาพ
ข้อความ


emo-smile emo-happy emo-lol emo-enjoy emo-kiku emo-cool emo-hoho emo-drool emo-hungry emo-kiss emo-sorry emo-sad emo-cry emo-tear emo-question emo-doubt emo-shock emo-redface emo-plz emo-peevish emo-angry emo-moody emo-sneer emo-makefaces emo-good emo-touched emo-love emo-bore emo-tired emo-vomit
bold italic underline img link superscript subscript size color space justifyleft justifycenter justifyright quote box youtube